ตื่นตา พบโลมาสีชมพู ที่เกาะห้อง อุทยานฯอ่าวพังงา เล่นน้ำอวดโฉมนักท่องเที่ยว

วันที่ 11 มิ.ย. นายศรายุทธ ตันเถียร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายปกรณ์ วงศ์ตั้งหิ้น หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ (สาขาย่อย) เกาะห้อง หมู่8 ต.คลองเคียน ว่า ขณะที่ปฏิบัติงานประจำจุดเก็บค่าบริการพบโลมาสีชมพู หรือโลมาหลังโหนก จำนวน 2 ตัว ไม่ทราบเพศ ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร มีลักษณะแข็งแรง กำลังขึ้นว่ายน้ำหาอาหาร สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวที่กำลังเที่ยวชมธรรมชาติอยู่บริเวณเกาะห้องเป็นอย่างมาก

นายศรายุทธ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ก็พบโลมาปากขวด จำนวน 1 ตัว กำลังขึ้นเล่นน้ำบริเวณท่าเทียบเรือบ้านท่าด่าน หมู่ 1 ต.เกาะปันหยี โดยภายในปี 2562 พบโลมาแล้วรวม 2 ครั้ง หลังจากไม่เคยพบเจอปลาโลมาเลยตั้งแต่ปี 2557 บริเวณเขาทะลุและเกาะปันหยี อุทยานฯอ่าวพังงา

ทั้งนี้คาดว่าโลมาทั้ง 2 ชนิดเข้ามาหาอาหาร เพราะบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าโกงกาง ป่าชายเลน มีสัตว์น้ำจำนวนมาก เป็นผลมาจากนโยบายและการรณรงค์การลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ส่งผลต่อสัตว์น้ำจำนวนมาก

ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ออกรณรงค์การลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก โฟม ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น และจัดทำโครงการขยะคืนถิ่น โดยให้นักท่องเที่ยวนำขยะของตนเองกลับไปทิ้งที่ฝั่ง จากการรณรงค์ที่ผ่านมาพบว่าขยะทะเลในพื้นที่อุทยานฯอ่าวพังงาลดลงอย่างเห็นได้ชัด และระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์ ทำให้โลมาเข้ามาว่ายและหาอาหารกินในอ่าวพังงาบ่อยครั้งขึ้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

สำหรับโลมาหนังโหนก หรือโลมาสีชมพู เป็นโลมาชนิดหนึ่ง ในวงศ์โลมามหาสมุทร มีลักษณะทั่วไป คือ มีจะงอยปากยาวโค้งเล็กน้อย ที่เด่นชัดคือส่วนของฐานครีบหลัง จะเป็นสันนูนสูงรองรับครีบหลังสีลำตัวจะผันแปรต่างกันมาก ตัวเล็กจะมีสีจางจนเหมือนเผือก แม้บางตัวมีสีออกขาว หรืออย่างน้อยขาวในบางส่วน หรือสีชมพู ซึ่งสีเหล่านี้ไม่ได้มาจากเม็ดสี แต่เป็นสีของหลอดเลือดที่ช่วยให้ไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงจนเกินไป และมีส่วนหลังที่เป็นสันนูนเหมือนโหนก อันเป็นที่มาของชื่อ

ขนาดโตเต็มที่ ตัวผู้ยาวประมาณ 3.2 เมตร ขณะที่ตัวเมียยาว 2.5 เมตร และลูกแรกเกิดยาวประมาณ 1 เมตร มีอายุโดยเฉลี่ย 40 ปี โลมาหลังโหนกเมื่ออายุมากขึ้นสีชมพูตามตัวจะยิ่งเข้มขึ้น และส่วนด้านท้องและด้านล่างลำตัวจะเป็นจุด และมีสีที่สว่างกว่าลำตัวด้านบน

กระจายพันธุ์ตามแถบชายฝั่งหรือแหล่งน้ำตื้นที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลน มีอุปนิสัยอาศัยประจำที่หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมากและอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร จึงพบเห็นตัวได้โดยง่าย โดยมักจะพบเห็นตั้งแต่ตอนเช้า จะอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนจะโผล่ขึ้นมาหายใจ

กินปลาทั้งตามชายฝั่งและในแนวปะการังเป็นอาหารหลัก รวมทั้งหมึก, กุ้ง, ปู ออกหาอาหารเป็นฝูง โดยใช้คลื่นเสียง เป็นโลมาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาฝึกกันตามสวนน้ำหรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน