มั่นใจโกโก้ตลาดกว้าง-สร้างรายได้ เกษตรกรหญิงเมืองน่านแนะตั้งกลุ่มปลูก : รายงานพิเศษ

คอลัมน์รายงานพิเศษ

หลังจากราคายางพาราไม่มีทีท่าว่าจะดีเหมือนเดิม เกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็ตัดยางทิ้งแล้วปลูกผลไม้แทน ขณะที่บางส่วนหันมาปลูกโกโก้ เพราะมีบริษัทเอกชนหลายแห่งเข้ามาขายต้นพันธุ์และรับซื้อ ซึ่งมีทั้งที่รับซื้อจริงและหลอกลวงแค่ขายต้นพันธุ์

ปัทมพร พิชัย อายุ 37 ปี เกษตรกรใน ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน และรองประธานวิสาหกิจชุมชนโกโก้เกษตรบนดอยน่าน เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจมาปลูกโกโก้ เพราะมองว่าเป็นพืชที่คนทุกเพศทุกวัยกินกัน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เป็นตลาดที่กว้างกว่ากาแฟเสียอีก แต่คนปลูกมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ ขณะที่มีคนทำช็อกโกแลตเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่มักส่งมาจากเมืองนอก ไม่ได้ซื้อในบ้านเรา

ปัทมพร พิชัย

นอกจากจะปลูกแล้ว เธอยังรับซื้อจากเกษตรกรในเครือข่ายด้วย เป็นการส่งเสริมเกษตรแบบครบวงจร โดยได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ในอดีตที่เคยทำงานกับทางปิดทองฯ น่าน และทำงานที่โครงการแม่ฟ้าหลวงมาก่อน ในเรื่องการรวมกลุ่ม เรื่องการตลาดและการจัดการแปลง ที่สำคัญเธออยากทำ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ให้ประสบความสำเร็จ และเป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชน โดยตอนนี้เธอเป็นรองประธานวิสาหกิจชุมชนโกโก้เกษตรบนดอยน่าน

หน้าตาเมล็ดโกโก้สด

แปลงโกโก้ของคุณปัทมพรอยู่ที่ ต.ยอด ในเนื้อที่ 10 ไร่ ประมาณ 800 ต้น โดยปลูกแซมในพื้นที่ที่ปลูกมะม่วงโชคอนันต์ มะนาวและทุเรียน เพราะโกโก้เป็นไม้ร่มเงาเหมือนกาแฟอาราบิก้า ต้องการแสงประมาณ 50-80% (ต้นอ่อนต้องการแสงแดดน้อยกว่า) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการปลูก ซึ่งเจ้าตัวมีแผนจะขยายพื้นที่ปลูก อีก พร้อมใช้พื้นที่บริเวณนั้นทำเป็นตลาดชุมชน เพื่อใช้เป็นแหล่ง ขายปลีก-ขายส่งด้วย

เกษตรกรสาวรายนี้เล่าที่มาที่ไปของการปลูกโกโก้ว่า เกษตรกรใน จ.น่านต่างนิยมปลูกข้าวโพดกัน จึงมีแนวคิดอยากหาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาทดแทน อยากพัฒนาบ้านเกิด ตลาดจะกว้างกว่าพืชตัวอื่น ก่อนหน้านี้ไม่มีความรู้เรื่องโกโก้เลย จึงได้ค้นหาตามเฟซบุ๊กและในอินเตอร์เน็ต จึงทำให้รู้ว่าเป็นพืชตัวใหม่ ตลาดจะกว้างกว่าพืชตัวอื่น โดยเฉพาะสายพันธุ์ชุมพร 1 จะออกลูกตลอดทั้งปี

“มองว่าโกโก้เป็นพืชที่คนกินทั่วโลก ทำไมเราจะไม่ปลูก ที่สำคัญขายได้ทุกเดือน เป็นพืชที่สามารถตอบโจทย์ให้เกษตรกรได้ว่าพวกเขาสามารถมีรายได้จากรายเดือน โดยที่ไม่ต้องเป็นราชการ และอาจจะได้เยอะกว่าด้วยซ้ำไป เพราะในปลูก 1 ไร่ ใช้เวลา 3-5 ปีก็จะได้ผลผลิตประมาณ 2-5 ตันต่อ 1 ไร่”

ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกใช้วิธีการเพาะเมล็ดเพราะจะทนทานกว่า ถ้าเป็นกิ่งตอน โดนลมจะล้ม อีกอย่างการปลูกเมล็ดไม่กลายพันธุ์ เนื่องจากใช้ต้นแม่จากชุมพรที่มีอายุประมาณ 42 ปี พันธุ์ชุมพร 1 เป็นพันธุ์โบราณของไทยที่ต่างชาติชื่นชอบเพราะมีรสชาติดี ติดรสเปรี้ยวมีกลิ่นผลไม้ กินแล้วได้รสชาติดี

สำหรับโรคและศัตรูพืชนั้น คุณปัทมพรให้ข้อมูลว่า มีปัญหาหนอนกระทู้กินใบ และเจาะลำต้นในช่วงฤดูฝน รวมถึงเพลี้ยแป้งด้วย ต้องใช้สารเคมีกำจัด แต่มีความปลอดภัยเธอให้ข้อมูลว่า ปลูกมาได้เกือบ 3 ปีแล้ว ซึ่งโกโก้จะให้ผลเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 5 ปี

แต่ช่วง 2-3 ปี ก็เริ่มให้ดอกให้ผล เริ่มติดดอก แต่มีดอกร่วงบ้าง บางต้นเริ่มติดๆ ให้ผลต้นละ 2-3 กิโลกรัม (ก.ก.) แล้วให้กลุ่มเกษตรกรที่สนใจมาดูงาน ตอนนี้มีเกษตรกรเป็นสมาชิกของกลุ่มประมาณ 200รายในเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งมีการการันตีราคารับซื้อขั้นต่ำไว้ที่ก.ก.ละ 5 บาทเป็นเวลานานถึง 15 ปีแต่ตอนนี้รับซื้อก.ก. 10 บาท ถือว่าแพงกว่าที่อื่น ซึ่งรับซื้อแค่ ก.ก.ละ 8 บาทเท่านั้น

คุณปัทมพรเล่าถึงเหตุผลที่รับซื้อโกโก้ก.ก.ละ 10 บาท ว่า เป็นเพราะมีตลาดเอง โดยทำสัญญากับต่างประเทศด้วยประเทศหลักๆ ที่ส่งเมล็ดโกโก้แห้งไปขายคือคือแคนาดา และสิงคโปร์

ทั้งนี้ต้องใช้โกโก้พันธุ์ชุมพร 1 เท่านั้น เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เป็นต้นพันธุ์ที่มาจาก จ.ชุมพร ที่มี อายุเกือบ 50 ปี โดยเมื่อรับซื้อผลผลิตมาจากเกษตรกรในกลุ่มแล้ว เธอจะนำมาหมักและตากเพื่อขายเมล็ดแห้ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมแบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่เกษตรกรรายไหนต้องการจะปลูก เธอจะไปดูแปลงให้ว่าควรจะปลูกอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีการบำรุงรักษาต้น

หากสมาชิกสนใจจะให้สั่งต้นกล้า ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ถึงปิดการจอง จากนั้นเริ่มนำเมล็ดมาเพาะ และขายในราคาต้นละ 35 บาท ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มกันก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการตลาดและการขนส่งผลผลิต และอย่างน้อยต้องมีพื้นที่ปลูกรวมกันไม่น้อยกว่า 20 ไร่ เพื่อประโยชน์ในการรับซื้อผลผลิต (สนใจโทร.09-7960-1926)

คุณปัทมพรบอกว่า จากการศึกษาและทดลองปลูกมาเกือบ 3 ปี ทำให้เห็นว่าโกโก้สามารถเป็นพืชรายเดือนให้เกษตรกร อย่างน้อยก็ลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าจิปาถะในครัวเรือนได้ เดือนหนึ่งคิดขั้นต่ำต่อไร่ จะมีรายได้ไร่ละ 3 พัน ถ้าปลูก 2 ไร่ ก็ได้เงินเดือน 6 พัน นอกจากนี้ก็ปลูกพืชหรือทำอย่างอื่นเสริมไปด้วย

ปีนี้เป็นปีแรกที่โกโก้ของคุณปัทมพรเพิ่งให้ผลผลิตได้ประมาณ 200 ก.ก. เธอจึงหมักและตากแห้งก่อน ส่งเมล็ดช็อกโกแลตแห้งไปยังร้านช็อกโกแลตในกรุงเทพฯ ขาย ก.ก.ละ 400 บาท และก่อนหน้านี้เธอก็เพาะต้นกล้าโกโก้พันธุ์ชุมพร 1 ขายตั้งแต่ปี 2559 และได้เงินหลายแสนบาทแล้ว ส่วนใหญ่จะขายให้กับเกษตรกรใน อ.แม่จริม นอกจากนี้เธอยังเพาะต้นพริกไทย และต้นมะแขว่น ขายด้วย

การปลูกของเธอและสมาชิกนั้น เจ้าตัวระบุว่า เป็นการปลูกแบบเกษตรปลอดภัย ยังใช้สารเคมีอยู่ โดยใช้ยาฆ่าหญ้า แต่เป็นแบบ เผาไหม้ ใช้ก่อนฤดูฝน เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้นเยอะ 1 ปีจะใช้ครั้งเดียว

เมล็ดโกโก้ตากในตู้พลังงานแสงอาทิตย์

เธอเล่าถึงขั้นตอนในการทำเป็นเมล็ดโกโก้แห้งว่า หลังรับซื้อผลสดก็นำมากะเทาะเปลือกแล้วหมัก คล้ายกับกาแฟ แต่ยากกว่า ถ้าหมักไม่ดีความร้อนไม่ได้ที่ จะขึ้นราดำ โดยต้องใช้ลังไม้ในการหมัก ใช้เวลา 7-8 วัน ในอุณหภูมิ 45-60 องศาเซลเซียส พอหมักเสร็จนำไปตากแดดอีก ใช้วิธีตากในตู้พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ให้ความชื้นเกิน 5-7% ตากจนได้ที่จนแห้ง รวมเวลาประมาณ 15-20 วันถึงได้เมล็ดแห้ง เพื่อส่งขาย

ในส่วนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกโกโก้กับเธอต่างแฮปปี้ เพราะขายได้ราคาดีกว่าข้าวโพด ที่ขายได้ก.ก.ละ 7 บาท ที่สำคัญโกโก้ออกลูกได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ยต้นละ 2-5 ก.ก. ในต้นที่มีอายุ 3-4 ปี แต่ถ้าอายุมากขึ้นจะให้ผลผลิตมากกว่านี้ ซึ่งถ้าเป็นผลใหญ่จะให้เมล็ดใหญ่และไม่ฝ่อ

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าโกโก้จะเป็นพืชเศรษฐกิจทำเงินให้กับเกษตรกรได้แบบยั่งยืนหรือไม่

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน