จิตแพทย์เตือน ซดเหล้าหนัก เสี่ยงป่วยจิตรุนแรง แนะหากจะงดต้องค่อยๆลด

วันที่ 9 ก.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น บาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุจราจร แผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด วิตกกังวล และซึมเศร้า เป็นต้น

ทั้งนี้การติดสุรามักพบร่วมในผู้ป่วยโรคจิตเวช เช่น ผู้ติดสุราจะเสี่ยงต่อการเกิดโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า 2.1-4.8 เท่า เสี่ยงโรคจิตเภท 6 เท่า ผู้ที่ป่วยซึมเศร้าเมื่อดื่มหนักจะเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง ทำให้อาการแย่ลง และการดื่มหนักทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทมีผลการรักษาไม่ดี

“ผู้ที่ติดสุราหรือดื่มหนักมากหรือดื่มติดต่อกันหลายวัน เมื่องดหรือหยุดดื่มสุราจะเกิดอาการขาดสุรา หรืออาการถอนพิษสุรา หากเกิดระดับไม่รุนแรงมักเกิดขึ้นใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุรา จะเริ่มมีอาการวิตกกังวล รู้สึกกระวนกระวาย เบื่ออาหาร มือสั่น ใจสั่น อาการจะเริ่มหายไปใน 48 ชั่วโมง

ส่วนอาการรุนแรง เกิดขึ้นหลังงดหรือหยุดดื่มสุรา 12-48 ชั่วโมง ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากผิดปกติ เกิดความสับสนอย่างมาก มีอาการมือสั่น ตัวสั่น นอกจากนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยมีอาการถอนพิษสุรารุนแรง ในวันที่ 3-4 ของการงดดื่มสุรา ทำให้เกิดอาการเพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด หรือเกิดอาการชักได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ผู้ติดสุราที่ตั้งใจจะงดเหล้าเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ แนะนำว่า ควรจะค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะงด โดยเริ่มลดตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันเข้าพรรษา คือ วันที่ 17 ก.ค. ก็จะสามารถเลิกหรือหยุดดื่มได้อย่างที่ตั้งใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

หากต้องการงดหรือหยุดดื่มทันทีก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ก่อนวันที่จะเริ่มงด โดยแพทย์จะให้ยารับประทาน เพื่อลดการเกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง ทำให้ผู้ที่ต้องการงดเหล้าเข้าพรรษา สามารถงดได้ตามความต้องการอย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ครอบครัวและคนรอบข้าง ต้องผู้สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจในการเลิกดื่มสุรา ต้องพร้อมที่จะเข้าใจ เห็นใจ ให้กำลังใจ และยอมรับ เพื่อให้เขารู้ว่า ยังมีครอบครัวที่หวังดีและจริงใจ แม้ในยามเผชิญเหตุการณ์ที่ยากลำบาก จะช่วยให้ผู้ติดสุรามีความพยายามตั้งใจในการเลิกดื่มได้นานขึ้น

ครอบครัวควรหมั่นสำรวจติดตาม และชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จเป็นระยะๆ รวมทั้งกล่าว ชื่นชมในทุกความสำเร็จ ตลอดจนจะช่วยลดการกลับไปดื่มซ้ำ หลังจากเลิกดื่มสุราแล้ว ไม่ให้กลับไปดื่มอีก อีกทั้งยังสามารถบอกกล่าวให้ไปรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดสุราหรือผู้ที่มีอาการถอนพิษสุราได้ โดยจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสุรา และให้การปรึกษาเพื่อลดและหยุดดื่มสุรา” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน