กรมศิลป์ เร่งประเมินความเสียหาย ไฟไหม้อุโบสถ วัดราชบูรณะ โบราณสถานเก่าแก่

เมื่อเวลา 05.45 น. วันที่ 17 ก.ค 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุไฟไหม้ในอุโบสถวัดราชบูรณะ อ.เมืองพิษณุโลก มีกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากชายคาด้านบนของอุโบสถ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของเทศบาลนครพิษณุโลก เร่งฉีดน้ำเข้าไปควบคุมเพลิงภายในอุโบสถ ส่วนต้นเพลิงเกิดขึ้นบริเวณโต๊ะหมู่บูชาหน้าพระประธาน ทำให้ได้รับความเสียหายทั้งหมด

โดยใช้เวลาควบคุมเพลิงประมาณ 20 นาที พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ใช้เครื่องดูดควันดำภายในอุโบสถออกมาภายนอก

ด้าน พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ เปิดเผยว่า ทราบเหตุ ช่วงเวลาประมาณ 05.30 น. มีกลุ่มควันสีดำลอยออกมาจากภายในอุโบสถ จึงรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ตรงจุดโต๊ะหมู่บูชาได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ทั้งหมด แต่ที่น่าห่วงมากที่สุดคือ จิตรกรรมฝาผนังน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะมีคราบเขม่าสีดำ เกาะเต็มจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการบูรณะของกรมศิลปากร

เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ กล่าวต่อว่า ปกติแล้วภายในอุโบสถไม่ได้เปิดให้คนเข้าไป เพราะช่างของกรมศิลปากร กำลังดำเนินการการบูรณะจิตรกรรมฝาผนัง ใช้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท ทางวัดจึงไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปกราบไหว้ พร้อมทั้งห้ามจุดธูปเทียน เนื่องจากภายในมีวัตถุไวไฟที่ใช้ในการบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนัง

แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา มีพุทธศาสนิกชนมาเวียนเทียนกัน คาดว่าญาติโยมเข้าไปจุดธูปเทียนแต่ไม่ได้ดับ ทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นดังกล่าว

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ทางวัดต้องรอทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบอีกครั้ง วันนี้วันเข้าพรรษา ทางวัดจะต้องทำพิธีมหาปวารณาเข้าพรรษา เพราะพระสงฆ์ต้องทำพิธีในภาคเย็นภายในอุโบสถ แต่ต้องรอดูก่อนว่าจะทำพิธีได้หรือไม่

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

พระครูสิทธิธรรมวิภัช กล่าวอีกว่า สำหรับอุโบสถวัดราชบูรณะเป็นโบราณสถานเก่าแก่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง สมัยอยุธยา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่คาดว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในภาคเหนือ ด้านล่างเป็นภาพวาดกมากรีฑา ด้านบนเป็นรามเกียรติ์ และมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ฝาแฝดอินจัน ในยุคต้นรัตนโกสินทร์อยู่อีกด้วย

ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดราชบูรณะไว้เป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ดังนี้ คือ ปี พ.ศ. 2528 บูรณะวิหารหลวง ปี พ.ศ. 2530 อนุรักษ์ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ

และปี พ.ศ. 2533 บูรณะเจดีย์หลวง โดยเสริมความมั่นคงทางรากฐาน และต่อยอดพระเจดีย์ทรงลังกาซึ่งหักชำรุดหายไปให้บริบูรณ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สันนิษฐานว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เพราะได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ แล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์

และมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารแล้วให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพระพุทธประวัติ โดยจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถนั้น ได้รับความเสียหายจากน้ำฝนและความชื้น จากสภาพหลังคาที่อายุเก่าแก่ จึงนำมาสู่การบูรณะครั้งหลังคาอุโบสถล่าสุดในปี 2556 และงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในปี 2562

ด้าน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นให้นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รับทราบ ซึ่งนายอิทธิพล ได้กำชับให้ตรวจสอบสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ และความเสียหาย เพื่อดูแลต่อไป

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากติดช่วงวันหยุดราชการ แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบข้อมูลประเมินความเสียหายของโบราณวัตถุภายในวัด รวมถึงประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน