รมว.ทส. ลงพื้นที่สุพรรณฯ-กาญจนบุรี เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง-คนกับป่าต้องอยู่ร่วมกัน

รมว.ทส. / เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ที่บ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี พร้อมแสดงความห่วงใยประชาชนหลายจังหวัดที่กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร โดยเน้นย้ำทส.พร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง และเร่งให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีฝนทิ้งช่วง ทำให้หลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับรายได้ของเกษตรกร ทส.มีเป้าหมายพัฒนาน้ำบาดาลในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่เป็นพื้นที่หาน้ำยาก เป็นพื้นที่ชั้นหินแข็งจำนวน 5 แสนไร่ ภายใน 3 ปี ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 180 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกตลอดปี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากหลายเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % จากรายได้การขายผลิตผลได้ตลอดทั้งปี ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนน้ำ โดยเป็นปัจจัยพื้นฐานให้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

จากนั้นนายวราวุธ ลงพื้นที่จ.กาญจนบุรี ไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อดูงานการทำงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยมีประชาชนให้การต้อนรับ พร้อมพบปะชาวบ้านแล้วทำความเข้าใจถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่มากินพืชไร่การเกษตร

นายวราวุธ เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาช้างหรือคนรุกป่า ซึ่งเถียงกันมานาน ตนขอให้คำมั่นว่าท้ายที่สุดแล้วก็ต้องอยู่กันให้ได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีหน้าที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรังแกประชาชน เรามีหน้าที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศไทย แต่หัวใจสำคัญที่สุดของประเทศไทยก็คือประชาชนทั้ง 77 จังหวัด เราจะไม่ใช้การแก้ปัญหาแบบเสื้อโหล ไม่ใช้นโยบายเดียวที่แก้ปัญหาทั้งประเทศ เราจะมานั่งคุยกันทีละจังหวัด นอกจากกาญจนบุรีแล้วภาคเหนืออีกหลายจังหวัดก็ประสบปัญหาเดียวกัน

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า พื้นที่ซับซ้อนคนไปอยู่ในพื้นที่ป่าหรือว่าคนอยู่ดีๆ และป่ามารุกพื้นที่ของเรา กรมอุทยานฯ เข้าใจความเดือดร้อนตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องช้าง ช้างรุกที่คน ก่อความเดือดร้อนให้พวกเรา เราจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ช้างออกมา สิ่งเหล่านี้เจ้าหน้าที่จะไปฟังบรรยายสรุปก่อนแล้วจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยเชิญผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งชาวบ้าน เกษตรกรเข้ามานั่งร่วมคุยกัน รับประกันว่าจะไม่ใช่ปิดประตูคุยกันเฉพาะแค่หน่วยราชการหรือคนบางกลุ่ม หรือนายทุนหรือพ่อค้าบางคน ตนให้คำมั่นได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันหัวใจการทำงานคือ การแก้ปัญหาของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน