ปภ.สั่งภาคกลางริมเจ้าพระยา-ป่าสัก รับมือน้ำล้นตลิ่ง หลังกรมชลฯ ปล่อยน้ำเขื่อนป่าสักฯ เต็มพิกัดป้องล้นอ่างเก็บน้ำ กทม.เตือนฝนหนักแน่ให้ชาวบ้านริมคลองสายหลักทั่วกรุงรับมือน้ำทะลัก ชัยนาทเอ่อแล้วหลังน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จัดที่เตรียมอพยพชาวบ้านในจุดเสี่ยง เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง เมืองกรุงเก่า ระดมช่างสร้างแนวป้องกันน้ำจากเจ้าพระยา บางไทรก็ไม่รอด ต้นข้าวที่กำลังออกรวงจมกว่า 1 เมตร

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามที่กรมชลประทาน ประเมินว่ามีโอกาสที่เขื่อนจะมีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ ในวันที่ 8 ต.ค. จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาอีก โดยจะปรับเพิ่มการระบายจากเดิมวันละ 20.75 ล้านลบ.ม. เป็นวันละ 40 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันระบายน้ำวันละ 32 ล้านลบ.ม. และจะทยอยเพิ่มเป็น 40 ล้านลบ.ม.ภายในที่ 29 ก.ย.

ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับปริมาณน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหกจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกไม่เกิน 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ล่าสุดมีน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก 433 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนพระรามหกลงมาไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1-1.50 ม.

ส่วนในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิ ภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยย่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 ก.ม. เหลือเพียง 600 ม. ทำให้ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยเร็วมากขึ้นในช่วงที่น้ำลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. เป็นต้นมา ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ไปแล้วทั้งสิ้น 82.19 ล้านลบ.ม.

ด้านนายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ที่ผ่านมา กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำ 20 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เป็น 31 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และจะทยอยปล่อยน้ำเต็มที่ แต่จะไม่ให้เกิน 40 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งอาจจะกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนที่อยู่นอกคันกันน้ำบ้างโดยจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกและลงทะเลให้เร็วที่สุด

ส่วนอีก 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ลดปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อจะเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะหมดฤดูฝน ทั้งนี้กรมชลประทานเตรียม สายด่วน 1460 ประชาชนสอบถามสถานการณ์น้ำและแจ้งปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วันเดียวกันนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยว่า จากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานในการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ดังกล่าว จึงประสานงาน 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงศูนย์ปภ.เขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแจ้งหน่วยชลประทานในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เปิดปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับอัตราความเร็วของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก และปริมาณฝนที่ไหลมาสมทบ

นายฉัตรชัยกล่าวว่า พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก เกษตรกร ผู้ประกอบการ ร้านค้า เรือโดยสาร นักท่องเที่ยว ประชาชนที่สัญจร ทางน้ำ ผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ให้ติดตามสถานการณ์และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ

วันเดียวกัน นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. ประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำ ที่สำนักงานเขตประเวศ โดยมีนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ประธานกลุ่มเขต ทั้ง 6 กลุ่มเขต คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยสั่งให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจนถึงวันที่ 4 ต.ค.

นายสมพงษ์กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1-29 ก.ย. โดยเฉพาะเขตหลักสี่ สายไหม ดอนเมือง อยู่ที่ 490 มิลลิเมตร ส่วนในเขตกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก อยู่ที่ 460 ม.ม. ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่มีจำนวนมาก สถานการณ์ฝนตกปัจจุบันร่องความกดอากาศพาดผ่านกรุงเทพฯ จะทำให้ในวันที่ 30 ก.ย.เป็นต้นไป จะมีฝนตกหนัก จึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่คลองเปรมประชากร ช่วงพื้นที่เขตหลักสี่ ดอนเมือง คลองแสนแสบ ช่วงพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี คลองประเวศบุรีรมย์ ช่วงพื้นที่เขตลาดกระบัง คลองบางนา ช่วงพื้นที่เขตบางนา ประเวศ และคลองลาดพร้าว ช่วงพื้นที่เขตสายไหม บางเขนและลาดพร้าว ให้เตรียมความพร้อมเต็มที่

ส่วนสถานการณ์น้ำที่จะผ่านกรุงเทพฯ ยังมีระดับไม่สูงมาก แต่จะต้องเฝ้าระวังน้ำที่ถูกปล่อยมาจาก จ.ชัยนาท ซึ่งจะผ่านระตูระบายน้ำคลอง 13 เขตหนองจอก วันละ 6 ล้านลบ.ม. เขตหนองจอก มีนบุรี คลองสามวา และลาดกระบัง จะต้องเฝ้าระวังน้ำที่เข้ามาด้วย ขณะเดียวกันจะต้องเฝ้าระวังฝนตกในพื้นที่ รวมทั้งเฝ้าระวังบ้านประชาชนที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,400-2,500 ลบ.ม. ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 1,600 ลบ.ม. ดังนั้นให้เขตที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลงพื้นที่ตรวจและดูแลพื้นที่ฟันหลอด้วย

ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ จ.ชัยนาท หลังมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,998 ลบ.ม.ต่อวินาที เริ่มส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเอ่อท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งในพื้นที่ ม.1 ต.ตลุก และม.5 ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา รวม 70 ครัวเรือน เบื้องต้นชาวบ้านใช้ชีวิตเป็นปกติ เนื่องจาก คุ้นชินกับฤดูน้ำหลาก แต่คาดว่า หากปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มถึง 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที คงต้องอพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัย

วันเดียวกัน พระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน เจ้าอาวาสวัดวัดท่าการ้อง ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา คุมคนงานเร่งเทปูนทำแนวป้องกันน้ำท่วมยาวกว่า 150 เมตร ตลอดแนวหน้าวัด หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เหลือเพียง 60 ซ.ม. จะล้นตลิ่งแล้ว ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำน้อย ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นด้วย จนเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนและนาข้าว ต.บางยี่โท อ.บางไทร สูงกว่า 1 ม. ข้าวที่กำลังออกรวงเหลืออีก 15 วัน จะเก็บเกี่ยวได้เสียหายจำนวนมาก

ส่วนที่ จ.ราชบุรี นาข้าวในพื้นที่ ม.1-3 ต.นางแก้ว อ.โพธาราม ที่อยู่ในระยะออกรวงกว่า 1,000 ไร่ ถูกน้ำท่วมขังสูง 1 ม. มิดยอดต้นข้าว นานกว่า 1 สัปดาห์ จนใบเริ่มเหลืองและรากเน่าแล้ว เบื้องต้นสำนักงานเกษตรอำเภอโพธาราม เร่งออกสำรวจความเสียหาย เสนอสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี นำเงินในส่วนของเงินทดรองจ่าย สำหรับช่วยเหลือด้านการเกษตรกรณีฉุกเฉิน

ที่ถนนเลียบคลอง 13 ฝั่งตะวันตก ม.6 ต.ศาราครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี รอ. ประสิทธิชัย พิมพ์สอน ผบ.รส. ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบกที่ 1 พร้อมนายพิมาย จันทะชิต หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 นายสราวุธ โกญจนาถ หัวหน้าสำนักปลัดอบต.ศาราครุ นำเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลหนักซ่อมถนนซึ่งพังเสียหายเนื่องจากถูกน้ำที่ผันมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ผ่าน จ.สระบุรี จนเอ่อล้นท่วมผิวถนนสูงประมาณ 70 ซ.ม. รวม 10 จุด พร้อมเร่งวางแนวกระสอบทรายและสูบน้ำออกจากผิวถนนให้ยานพาหนะใช้สัญจรได้สะดวก

จมหนัก - สภาพน้ำท่วมขังพื้นที่ 4 ตำบล อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 300 หลังคาเรือน หลังเกิดฝนตกถล่มหนักตลอดทั้งคืน มีน้ำป่าไหลหลากทะลักมาจาก อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.

จมหนัก – สภาพน้ำท่วมขังพื้นที่ 4 ตำบล อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 300 หลังคาเรือน หลังเกิดฝนตกถล่มหนักตลอดทั้งคืน มีน้ำป่าไหลหลากทะลักมาจาก อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน