สำรวจพบ “เสือโคร่ง” ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มากถึง 18 ตัว หากิน ขยายพันธุ์ออกลูกหลาน เผยกรมอุทยานฯ ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์เสือจากต่างประเทศ ร่วมกันสำรวจ ตั้งกล้องดักถ่ายจับภาพได้ทั้งภาพนิ่ง และเคลื่อนไหว พบเป็นตัวผู้ 5 ตัวเมีย 7 และลูกอีก 6 ตัว บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศของผืนป่า รวมทั้งประสิทธิภาพในการลาดตระเวนป้องกันรักษาพื้นที่ ทำให้เสือโคร่งดำรงชีวิตตามป่าธรรมชาติได้ ในไทยมีอยู่ไม่ถึง 250 ตัว

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. สำนักข่าวบีบีซีรายงานข่าวดีด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย ว่าองค์การต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า มูลนิธิฟรีแลนด์ และกลุ่มอนุรักษ์เสือ มูลนิธิแพน เธรา พบประชากรเสือโคร่งอินโดจีน ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อกล้องดักถ่ายภาพบันทึกภาพลูกเสือชนิดนี้ได้อย่างน้อย 6 ตัว

สำหรับเสือโคร่งอินโดจีน มีถิ่นอาศัยตั้งแต่ ตอนใต้ประเทศจีน บางส่วนในพม่า ประเทศ ไทย และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์สูงมาก เนื่องจากถูกล่าและเสียพื้นที่อยู่อาศัย เนื่องจากการเติบโตของเมือง ทำให้ประชากรเสือโคร่งชนิดนี้ในประเทศไทยเหลือไม่ถึง 250 ตัว ในป่า อาศัยตามธรรมชาติ แต่การสำรวจของทางกลุ่ม ที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ไทย พบสมาชิกใหม่ของเสือชนิดนี้

นายจอห์น กู๊ดริช ผู้อำนวยการกลุ่มแพนเธรา กล่าวว่าการที่เสือชนิดนี้ในไทยหวนกลับมาเพิ่ม ประชากรได้นั้น ถือว่าใกล้เคียงกับปาฏิหาริย์

สำหรับเสือในประเทศไทยลดลงอย่างฮวบฮาบ จนเกือบจะสูญพันธุ์ในช่วงต้นของยุค 2000 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านก็ตัดป่ากันอย่างมโหฬารเช่นกัน จนเชื่อว่าเสือโคร่งอินโดจีนสูญพันธุ์ไปแล้วในประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม จะเหลือก็เพียงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศเมียนมา ส่วนตะวันตกของเมียนมายังมีเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลเหลืออยู่บ้าง และทุกวันนี้จากการที่ไทยพยายามอนุรักษ์เสือโคร่งอินโดจีน จึงทำให้ไทยกลายเป็นฐานที่อยู่สุดท้ายของเสือชนิดนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านนายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่ากรมอุทยานฯ ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ และมูลนิธิแพนเธรา ร่วมกันสำรวจเสือโคร่ง โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า พบว่าเสือโคร่งสามารถดำรงชีวิต และขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเสือโคร่งอินโดจีน จัดเป็น 1 ใน 6 สายพันธุ์ย่อยของสัตว์ตระกูลเสือ ที่มีข้อมูลอยู่น้อย จึงได้รับความสนใจศึกษาและติดตามมากที่สุด

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวว่าในอดีตเสือโคร่งถูกภัยคุมคามต่างๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่ ลักลอบล่าสัตว์ป่า จึงทำให้ประชากรเสือโคร่งลดจำนวนลงจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ภาครัฐได้ตระหนักจึงเร่งดำเนินการเชิงรุกแบบเข้มข้นในเรื่องลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า จำนวน 158 ตัว บริเวณถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญ

นายทรงธรรมกล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนมิ.ย.2559 ถึงเดือนก.พ.2560 สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ 18 ตัว แบ่งเป็นตัวผู้ 5 ตัว ตัวเมีย 7 ตัว และลูกเสือโคร่ง 6 ตัว ซึ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมทั้งประสิทธิภาพในการลาดตระเวนป้องกันรักษาพื้นที่ จึงทำให้เสือโคร่งดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวอีกว่าแต่กรม อุทยานฯ จำเป็นต้องปกปิดถิ่นที่อยู่ที่ชัดเจนของเสือโคร่งไว้เป็นความลับ เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มลักลอบล่าเสือโคร่ง จัดเป็นภัย คุกคามร้ายแรงต่อความอยู่รอดของเสือโคร่ง ในปัจจุบันเสือโคร่งถูกจัดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากประชากรเสือโคร่งในธรรม ชาติทั่วโลกมีจำนวนลดลงในช่วงศตวรรษ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จากประมาณ 100,000 ตัว เหลืออยู่ไม่ถึง 4,000 ตัว ในประเทศไทยมีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 200 ตัวเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน