อุทยานฯ ระบุฤดูมรสุมของทุกปีมักมีขยะถูกคลื่นพัดขึ้นฝั่ง เจ้าหน้าที่ ประชาชน จิตอาสา ช่วยเก็บขยะทุกวัน ชี้ขยะทะเล เป็นขยะข้ามพรมแดน วอนทุกคน ทุกประเทศ ลดปริมาณขยะ

 

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาขยะทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน ว่า ในช่วงฤดูมรสุมของทุกปีจะมีขยะถูกคลื่นพัดขึ้นฝั่งบริเวณชายหาดหมู่เกาะต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก

“เมื่อดูที่มาจากขยะเหล่านี้พบว่าส่วนหนึ่งเป็นขยะจากต่างประเทศ ทั้งขวดน้ำ ถุงขนมที่ผลิตจากต่างประเทศ และขยะส่วนหนึ่งมาจากในไทย ซึ่งถูกทิ้งตั้งแต่บนบกไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองและสุดท้ายไหลลงสู่ทะเล และบางส่วนพบเป็นเศษอวนจากการประมง”

 

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กำลังเก็บขยะทะเลที่พัดขึ้นฝั่งในพื้นที่อุทยานฯ ธารโบกขรณี จ.กระบี่

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กำลังเก็บขยะทะเลที่พัดขึ้นฝั่งในพื้นที่อุทยานฯ ธารโบกขรณี จ.กระบี่

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาขยะมรสุมเป็นเรื่องที่แก้ไขค่อนข้างยาก เพราะเป็นขยะข้ามพรมแดน ทะเลไม่มีกำแพงแบ่งแยก และเมื่อเกิดมรสุมก็จะพัดพาขยะเหล่านี้ไปตามทิศทางลม และสุดท้ายก็พัดขึ้นมาตามชายหาดตามที่ปรากฎในโลกโซเชียล

ส่วนเรื่องปัญหาขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวหรือชุมชนในพื้นที่นั้น แถบจะไม่มีปัญหาเลย เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปนำขยะที่ตนเองนำมาเอากลับไปเกือบทั้งหมด

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายทรงธรรม กล่าวว่า ในช่วงมรสุมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แทบจะไม่มีเวลาว่าง เพราะเก็บขยะมรสุมเหล่านี้ตลอด บางครั้งเก็บช่วงเช้าเสร็จแล้ว ช่วงเย็นก็จะพบมีขยะมรสุมพัดขึ้นฝั่งอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้ละเลยและทำภารกิจเก็บขยะในทุกๆ วัน และยังมีประชาชน อาสาสมัคร ผู้ประกอบการมาช่วยกันเก็บขยะด้วย

ประชาชน และจิตอาสาร่วมกันเก็บขยะในพื้นที่อุทยานฯสิรินาถ จ.ภูเก็ต

ประชาชน และจิตอาสาร่วมกันเก็บขยะในพื้นที่อุทยานฯสิรินาถ จ.ภูเก็ต

นอกจากขยะบนฝั่งแล้ว ยังมีขยะที่ติดอยู่ใต้ทะเล เกาะอยู่ตามปะการัง โดยทุกเดือนตุลาคม หลังหมดมรสุมแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานจะดำน้ำลงไปเก็บขยะใต้ทะเลเหล่านี้อีก

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวย้ำว่า ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทุกคน ทุกประเทศต้องช่วยกันแก้ไข จากการประชุมอาเซียน ประเทศไทยได้เสนอ ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการที่จะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะในภูมิภาค หากทุกประเทศจัดการขยะของตนเองก็จะช่วยลดปริมาณขยะทะเลลงได้

“ในส่วนของพื้นที่อุทยานฯ ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ช่วยกันรักษาความสะอาด และใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่นำขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวเข้ามา และงดใช้วัสดุที่ทำจากโฟม และปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อห้าม และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ธรรมชาติคงอยู่กับเราตลอดไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน