นักวิชาการ ชี้โครงการผันน้ำสาละวินสู่เจ้าพระยา ผลาญงบแสนล้าน ทำลายพันธุ์ปลา

วันที่ 9 ส.ค. รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยถึงกรณีที่กรมชลประทานกำลังดำเนินโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ในลุ่มน้ำสาละวิน ในจ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเติมน้ำยังเขื่อนภูมิพล ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาท ว่า แม่น้ำคง คือชื่อเรียกที่ท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสาละวิน และมีปลาประจำแม่น้ำสาละวิน ที่เรียกว่า ปลาคง หรือปลาคม เป็นกลุ่มปลาเวียนขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาสูงและรสชาติดีมาก

โดยแม่น้ำสาละวินมีชนิดปลาที่แตกต่างกันกับปลาที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก มีปลาเฉพาะถิ่นที่ไม่เคยมีในระบบแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 156 ชนิด จากทั้งหมดพบ 192 ชนิด ในระบบน้ำสาละวิน โดยมีเพียง 7 ชนิดที่เหมือนกับปลาในระบบแม่น้ำเจ้าพระยา และมี 4 ชนิดที่พบเหมือนกับปลาในระบบลุ่มน้ำโขง ซึ่งในจำนวนนี้มีปลาที่พบในระบบแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง และระบบแม่น้ำสาละวิน เพียง 29 ชนิด

“สาเหตุที่ปลาในแม่น้ำสาละวินแตกต่าง เนื่องจากน้ำไหลแรงและน้ำลึก สาละวินน้ำเย็น และมีพื้นท้องน้ำเป็นหิน มีความเฉพาะมาก ปลาเลยเฉพาะมาก นี่คือขุมทรัพย์ของชาติที่ล้ำค่ามาก ๆ จึงเป็นปลาเฉพาะถิ่นซึ่งมีเฉพาะที่ ที่อื่นไม่มี” รศ.ดร.อภินันท์ กล่าว

อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ กล่าวว่า ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันมาก มีความหลากหลายมาก ปรับตัวและอยู่อาศัยในพื้นที่ความสูงที่แตกต่างกัน ความเร็วของกระแสน้ำที่แตกต่างกัน พื้นท้องน้ำที่แตกต่างกัน และลักษณะอื่น ๆ ปรับตัวมาหลายล้านปี อยู่ในแม่น้ำมาหลายล้านปี การปรับตัวเหล่านี้นำไปสู่การต้องการอยู่เฉพาะถิ่นของตัวเอง ไม่ข้ามสันเขาไปเพื่อต้องการปนเปื้อนกันกับชนิดอื่น แม่กระทั่งการสืบพันธุ์ของปลาชนิดที่ใกล้ชิดกันก็ยังมีช่วงเวลา สถานที่ เงื่อนไขทางธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน

“หากเมื่อไหร่มีการเชื่อมต่อกันของระบบน้ำที่มีปลาแตกต่างชนิดกันมาก ก็จะมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่น่าให้อภัย หากใกล้เคียงกัน อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันก็พอทำเนา แต่ก็ไม่ควรกระทำ อย่ามองแค่เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ มีวิธีการอื่นอีกหลากหลายที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งได้อย่างยิ่งยวด อย่าเลือกวิธีการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาก่อนเรามากนัก” รศ.ดร.อภินันท์ กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่า 1. ทุกวันนี้ เราปล่อยน้ำฝน-น้ำท่า ไหลทิ้งลงทะเลและแม่น้ำโขง ปีละเท่าไหร่ 2. ประสิทธิภาพระบบชลประทาน อยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่ น้ำหายไปเท่าไหร่ และ 3. น้ำสูญเสียในระบบผลิตและส่งน้ำประปา อยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่ น้ำหายไปวันละเท่าไหร่ ถ้าเราเอาน้ำที่หายไปจากข้อ 1, 2, 3 กลับคืนมาได้สัก 50% ยังจำเป็นต้องผันน้ำข้ามลุ่ม เช่น ผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสาละวิน ผันน้ำจากลุ่มน้ำโขง อีกหรือไม่

“ดิฉันเข้าใจดีว่าหนึ่งในพันธกิจของกรมชลประทาน คือ การจัดหาแหล่งน้ำ พูดง่ายๆ คือ เพิ่ม supply เพิ่มน้ำต้นทุน แต่ถามจริงๆว่า เราต้องหาอีกเท่าไหร่ถึงจะพอกับความต้องการที่ไม่มีเพดาน น้ำของเพื่อนบ้าน น้ำนานาชาติ น้ำที่อยากจะผันข้ามลุ่ม ก็คือน้ำของโลก โลกของเรากับโลกของเพื่อนบ้านก็โลกเดียวกันไหม เคยคิดถึงผลกระทบในระดับภูมิภาค ในระดับโลกกันไหม

ถ้าอยากใช้งบก็เอาเลย แต่เปลี่ยนมาลงทุนกับเทคโนโลยีประหยัดน้ำ เทคโนโลยีรียูส รีไซเคิล เพิ่มประสิทธิภาพชลประทาน ลดน้ำสูญเสียของการส่งน้ำระบบท่อของประปา ทำแบบนี้ ดีกว่าไหม พูดจริงๆนะ เบื่อมากกับการคิดใช้งบมหาศาลเพื่อโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มันเป็นวิธีผลาญงบแบบทื่อๆ ไม่มีกึ๋นเลย และเชยมากๆ” “ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันระบบชลประทานมีประสิทธิภาพจัดการน้ำแค่ 40-50% ถ้ากรมชลประทานจริงจังในการจัดการ และดูแลรักษาระบบ ถ้าเพิ่มอีกแค่ 20% เราจะได้น้ำกลับคืนมาอีกมากมาย และสามารถส่งเสริมการเกษตรที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การเอาเงินที่จะลงทุนผันน้ำมาลงทุนกับเทคโนโลยีที่ลดการใช้น้ำภาคเกษตรเหมือนประเทศอิสราเอลหรือจีนโซนทะเลทราย จะยั่งยืนกว่าการต้องหาน้ำมาเพิ่มอย่างไม่มีวันจบสิ้น

“เอาจริงๆ นะ เราจะขยายพื้นที่ปลูกข้าวอีกทำไม ในเมื่อทุกวันนี้ก็ปลูกเยอะเกินความต้องการตลาดแล้ว อินเดีย เวียดนามเขาปลูกได้เยอะกว่าเรา เราจะแข่งเรื่องปริมาณทำไม ทำไมไม่แข่งเชิงคุณภาพ มันเป็นแนวทางการพัฒนาที่มั่วไปหมด เราอยากเป็นที่ 1 ในเรื่องอะไรกันแน่”ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

ขณะที่ในเอกสารของกรมชลประทาน ที่แจกจ่ายในเวทีรับฟังฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการป้องกันและแก้ไขในหัวข้อสิ่งมีชีวิตในสระน้ำ ระบุว่า เขื่อนจะกีดขวางการเคลื่อนย้ายของปลาในลำน้ำยวม ปลาทั้งสองฝั่งอุโมงค์มีชนิดที่ใกล้เคียงกัน แต่หากหลุดเข้าอุโมงค์อาจส่งผลต่อสมดุลย์ของระบบนิเวศท้ายน้ำ

โดยจะมีมาตรการตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่น เช่น ปลาซะแงะ ปลากดหัวเสียม ปล่อยปลาในลำน้ำ ออกแบบระบบป้องกันสัตว์น้ำหลุดเข้าสถานีน้ำข้ามลุ่มน้ำ ลำเลียงปลาท้ายเขื่อนน้ำยวมไปปล่อยเหนือเขื่อนโดยใช้อุปกรณ์ประมง เช่น แห อวน รวมถึง มีแผนติดตามตรวจสอบด้านนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมงในลำน้ำยวมและท้ายน้ำปีละ 3 ครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน