เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ดร.ประมวล เสติ ประธานคณะกรรมการกลุ่มศิลปินหมอลำภาคอีสาน พร้อมด้วย เจ้าของและตัวแทนคณะหมอลำชื่อดังในขอนแก่นและภาคอีสาน เช่น คณะระเบียบวาทศิลป์ คณะประถมบันเทิงศิลป์ รัตนศิลป์อินตา หนูภาร วิเศษศิลป์ สมจิตร บ่อทอง คณะใจเกินร้อย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ระยะเวลาการแสดงศิลปะหมอลำ โดยมีพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ

201609301457213-20041110151135

ดร.ประมวล กล่าวว่า หมอลำเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีวิถีชีวิตควบคู่ไปกับประเพณีและวัฒนธรรมอีสาน ให้ความบันเทิง และคติสอนใจ ได้รับความนิยมและยังส่งเสริมให้เกิดอาชีพเกิดรายได้ ถูกนำไปแสดงในงานบุญ โดยเฉพาะในช่วงหลังออกพรรษาหรือหมดหน้าฝน ที่มีงานบุญให้คนอีสานแต่ละหมู่บ้านได้มารวมกัน เป็นการแสดงที่มีความสนุกสนานจึงใช้หมอลำเป็นการเชื่อมสัมพันธ์จนก่อให้เกิดการสร้างสาธารณะประโยชน์เช่นการทอดผ้าป่า แต่การแสดงหมอ ซึ่งปกติจะเริ่มเวลาสามทุ่มเป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า

201609301457216-20041110151135

แต่ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาการแสดงหมอลำจะเลิกเร็วขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่แต่ละท้องที่มาบอกให้เลิกเมื่อถึงเวลา 01.00 น. จนสร้างความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ชมและคณะหมอลำ จนมีผลต่อการจ้างหมอลำไปสมโภชในบุญประเพณี ซึ่งกลุ่มหมอลำเห็นว่า เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมที่ทางการเห็นว่าเพื่อความปลอดภัยความมั่นคง และไม่ให้กระทบหรือความเดือดร้อนความรำคาญกับคนส่วนใหญ่ จึงได้แต่ยอมรับสภาพมาโดยตลอด แต่ปีนี้คณะหมอลำได้รับผลกระทบรุนแรงมาก มีการบอกเลิกยกเลิกการแสดงเป็นจำนวนมาก จึงขอให้มีการยืดหยุ่นผ่อนปรนระยะเวลาการแสดง เพื่อส่งเสริมศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่ หมอลำเป็นการแสดงคืนความสุขให้กับประชาชนรากหญ้าอย่างแท้จริง และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในชุมชนเป็นอย่างดี

201609301457215-20041110151135

ด้าน น.ส.นภัสนันท์ สืบสำราญ ตัวแทนของวงระเบียบวาทศิลป์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา มีหนังสือจากอำเภอเมืองขอนแก่น ส่งถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง แต่ละท้องถิ่นก็มีหนังสือต่อถึงคณะหมอลำเรื่องข้อกำหนดการแสดงมหรสพให้มีการแสดงได้แค่เวลา 01.00 น. ทำให้มีผลกระทบต่อการแสดงหมอลำ ซึ่งปกติต้องแสดงยาวจนถึงเช้า และที่สำคัญกระทบต่อการจ้างที่ลดลงอย่างมาก กระทบต่อเนื่องจนถึงรายได้และการประกอบอาชีพของศิลปินอีสาน

ขณะที่ นางชวารา หาญสุริย์ เจ้าของคณะหมอลำรัตนศิลป์อินตา กล่าวว่า หมอลำเป็นการแสดงและเป็นศิลปะพื้นบ้านอีสาน ที่ต้องได้รับการส่งเสริมและยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ เพราะแต่ละวงแต่ละคณะมีนักเต้นนักแสดงหลายร้อยคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสูงหนักใจ ถ้าหมอลำไม่มีงานแสดง เด็กพวกนี้จะไปอยู่ที่ไหน แต่เมื่อทางการมีกฎห้ามและให้แสดงแค่ตีหนึ่งแบบนี้ การแสดงก็ไม่เต็มที่ เจ้าภาพก็ไม่จ้าง เพราะเคยดูกันทั้งคืน และค่าใช้จ่ายจ้างก็เท่าเดิม แต่เล่นแค่ไม่กี่ชั่วโมง แม้ว่าจะมียอดจองเข้ามาล่วงหน้าแล้วก็ตาม แต่มีหลายรายยกเลิกยอมเสียเงินค่ามัดจำ เพราะแสดงได้แค่ตีหนึ่ง ยังดูไม่สนุก อารมณ์หมอลำยังไม่ออกเต็มที่ ยอดจองก็ลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

“ตอนนี้ต่างก็วิตกกังวล แม้ว่าข้อห้ามของแต่ละท้องที่จะมีมาแล้วตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไปแสดงแล้วบางแห่งตำรวจมาบอกให้เลิกแสดงเวลา 01.00 น. ก็ต้องเลิก แต่เมื่อประกาศออกไปก็ถูกผู้ชมโวยวาย เจ้าภาพที่เคยจัดก็ไม่กล้าจ้างอีก แต่ปีนี้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงต้องมาขอความอนุเคราะห์ให้แสดงได้เหมือนเดิมถึงเช้า และขอให้นายกรัฐมนตรีส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอีสานให้คงอยู่ต่อไป” นางชวารา กล่าว

ด้านพ.ท.พิทักษ์พล กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า โดยภาพรวมไม่มีคำสั่งโดยตรงห้ามหมอลำแสดง แต่เป็นการกำหนดให้ผู้จัดแสดงต้องมีการขออนุญาตในการจัดแสดง ที่ต้องมีการใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง เรื่องความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนเวลาการแสดงนั้นจะมีการประสานไปทางหน่วยงานที่มีการกำหนดอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากยื่นหนังสือเสร็จแล้วคณะหมอลำดังกล่าวได้โชว์ร้องหมอลำให้กับเจ้าหน้าที่ทหารได้รับชมด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน