ชาวสีคิ้ว โวยโรงงาน วางท่อสูบน้ำจากลำตะคอง จี้ผู้ว่าฯยกเลิก ขู่นัดชุมนุมใหญ่

โวยโรงงาน / เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา น.ส.สุรีรัตน์ ด่านกุล แกนนำกลุ่มรักษ์สีคิ้ว พร้อมผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำดิบจากลำตะคอง เพื่ออุปโภค บริโภคและเกษตรกรรมจำนวน 30 คน

เดินทางมายื่นหนังสือและรายชื่อประชาชน 179 คน คัดค้านการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานรับท่อน้ำดิบและโรงสูบน้ำข้ามคลองบุ่งยาง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ของโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่

พร้อมชูป้ายไวนิลเขียนข้อความลักษณะคัดค้านโครงการฯอาทิ “ชาวสีคิ้วคัดค้าน การอนุมัติให้โรงงาน…สูบน้ำไปใช้ ในการผลิตขณะที่ประชาชนในลุ่มน้ำลำตะคองประสบภัยแล้งทุกปี ท่านผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย ซึ่งเป็นลูกหลานชาวสีคิ้วโคราช ท่านจะให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภัยพิบัติ ความเสียหาย ให้กับลูกน้อง ลูก-หลานชาวสีคิ้ว โคราช เพราะการอนุมัติโดยท่านหรือในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่า”

“ผู้ว่าฯโคราชประกาศภัยแล้งทุกปี แต่หน่วยงานราชการต่างๆกับซ้ำเติมประชาชน อนุญาตให้โรงงานน้ำตาล มาสูบน้ำจากลำตะคอง แย่งน้ำประชาชน ผู้ว่าฯช่วยด้วย” ฯลฯ โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รอง ผวจ.นครราชสีมา รับหนังสือแทนนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ซึ่งติดภารกิจราชการ

น.ส.สุรีรัตน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ในขณะนี้ จ.นครราชสีมา ประสบภัยแล้งซ้ำซากและขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หน่วยงานราชการกลับซ้ำเติมอนุญาตให้โรงงานดังกล่าวดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นการแย่งสูบน้ำ ขณะที่น้ำอุปโภค บริโภคไม่พอเพียง เกษตรกรต้องงดปลูกข้าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

แม้นในช่วงฤดูฝนแต่ข้าวในนานับแสนไร่ต้องยืนต้นตาย เนื่องจากพื้นที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ อีกทั้งปริมาณน้ำฝนไม่มากเหมือนอดีต โรงงานดังกล่าวมีทุนนับหมื่นล้านบาท แต่ไม่ซื้อที่ดินขุดเจาะบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการกลับสูบน้ำจากลำตะคอง ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เพราะใช้ปริมาณน้ำต่อปี 2.3 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็นร้อยละ 1 ของพื้นที่เก็บกัก 314 ล้านลบ.เมตร ของเขื่อนลำตะคอง มากกว่ายอดใช้น้ำของทุกโรงงานในพื้นที่ อ.สีคิ้ว รวมกัน 1.5 ล้านลบ.เมตร สภาพความเป็นจริงปริมาณน้ำดิบใน เขื่อนลำตะคอง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีน้ำเต็มความจุ ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 136 ล้านลบ.เมตร หรือ 43 % ของพื้นที่เก็บกัก

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบและโรงสูบน้ำเป็นไปตามระเบียบทางราชการหรือไม่ นายทุนเจ้าของโรงงานไม่เคยสอบถามชาวบ้านมีน้ำใช้พอเพียงหรือไม่และพบการถมดินรุกล้ำในคลองน้ำธรรมชาติอีก

ชาวบ้าน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้ใช้น้ำลำตะคองในการดำรงชีพ ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและรับผลกระทบโดยตรงจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรน้ำ จึงขอคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว

วันนี้มีการประชุมพิจารณาการอนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำตะคอง ซึ่งปรากฏหลักฐานการละเมิดกฎหมาย เนื่องจากก่อสร้างในขณะยังไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกบางส่วน เนื่องจากจำนนต่อหลักฐาน หากอนุญาตให้โรงงานก่อสร้างต่อไป ชาวสีคิ้วต้องเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ด้านนายไพรัตน์ แซ่อือ ชาวสีคิ้ว กล่าวว่า ผู้ใช้น้ำจากลำตะคองทั้ง 6 อำเภอ ต้องการให้ระงับโครงการฯ นี้ โรงงานกำลังจะมาแย่งสูบน้ำจากชาวโคราชที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำ หากฝืนอนุญาตให้ก่อสร้าง ประชาชนจะรวมตัวออกมาเดินขบวนต่อต้านกันทั้งจังหวัดอย่างแน่นอน

ด้านนายชุยธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวชี้แจงว่า โรงงานดังกล่าวได้ขออนุญาตการใช้น้ำชลประทาน โดยก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบ ตั้งห่างจากลำตะคองประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณช่วงหลักกิโลเมตรที่ 17.832 ตามตารางแผนการใช้น้ำวันละ 16,667 ลบ.เมตร และใช้น้ำไม่เกินเดือนละ 5 แสนลบ.เมตร รวมปริมาณทั้งสิ้น 2.32 ล้าน ลบ.เมตร

กำหนดช่วงเวลาน้ำหลากระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมและ ให้สูบน้ำจากคลองน้ำสาธารณะที่เกิดจากฝนตกท้ายเขื่อนลำตะคองเป็นหลักและต้องเก็บสะสมน้ำดิบไว้ใช้ในกิจการให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานสามารถสงวนน้ำดิบ โดยสั่งระงับการใช้น้ำได้ทันทีหากเกิดปัญหาน้ำต้นทุนในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้อย

ขณะนี้ยังไม่อนุมัติให้สูบน้ำตามที่ต้องการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการขอเอกสารเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องผ่านการเห็นชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรมเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา โดยเฉพาะกระบวนการให้อนุญาตใช้น้ำดิบของชลประทานที่เข้มข้น กรณีกองดินที่รุกล้ำเข้าไปในลำตะคองจะต้องขนย้ายออกเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน