ประมงพื้นบ้านตรัง จี้เร่งแก้ปัญหา พะยูนตาย แนะทางออก 5 ข้อ เผยเคยเสนอแล้ว แต่รัฐเงียบ!

มูลนิธิอันดามัน Save Andaman Network Foundation แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอถึงการแก้ปัญหา พะยูนตาย ความว่า

พะยูนไทยจะต้องสังเวยอีกกี่ตัว ? เมื่อวานพบพะยูนตาย เป็นตัวที่ 17 ในรอบปีนี้

วันนีทราบข่าวร้าย น้องยามีล ได้จากเราไปอีกตัว เป็นข่าวที่สร้างความเสียใจ ให้กับเราทุกคน แต่จะเป็นพะยูนตัวไหนๆก็มีค่าเท่ากันหมด เราหวังว่าคงถึงเวลาที่จะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังที่ต้นเหตุ

เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ไม่เคยนิ่งเฉย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ได้ยื่นข้อเสนอมาตรการอนุรักษ์พะยูนในทะเลตรัง ในที่ประชุมคณะกรรมการประมงจังหวัดตรัง แต่ทุกอย่างกลับนิ่งเฉยไร้การปฏิบัติ แล้วเราจะคาดหวังกลไกการทำงานจากภาครัฐได้อย่างไร?

วันนี้คงถึงเวลาที่เราต้องมีปฏิบัติการร่วมกันอย่างจริงจังสักที เสียงของชาวประมงพื้นบ้านถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง?

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

เพื่อให้การแก้ปัญหาการลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย และทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ และการใช้เครื่องมือทำการประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนและสัตว์ทะเลหายากเกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง ใคร่ขอเสนอมาตรการดังต่อไปนี้

1. กติกาชุมชนภายใต้ข้อบัญญัติท้องถิ่นฯ และข้อตกลงเหล่านี้ควรมีการพัฒนาให้เป็นประกาศจังหวัดตรัง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดเครื่องมือทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ.2560 ลงวันที่ 9 พ.ย.60 โดยการพัฒนากติกาชุมชนให้เป็นประกาศจังหวัดต้องมีการจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นของชาวประมงและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณจังหวัดเพื่อดำเนินการ

2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกลาดตระเวน เฝ้าระวังการลักลอบใช้เครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อพะยูน โดยให้รื้อฟื้นชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจราษฎรอาสา (ฉก.) รักษาทะเล ออกปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

3. การใช้มาตรการทางปกครองเพื่อแก้ปัญหา ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกับอาสาสมัครฯ ในการออกลาดตะเวนเฝ้าระวังทางทะเล นายอำเภอภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายระดับอำเภอต้องกำชับกำนัน และผู้ใหญ่ ให้ทำการสำรวจประเภทเครื่องมือประมงในพื้นที่ของตนเองว่ามีการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายและที่เป็นอันตรายต่อพะยูน เช่นเบ็ดราไว อวนจมปลากระเบน หรือไม่

โดยต้องทำรายงานประจำเดือนเสนอต่อที่ประชุม และหากพบว่ามีต้องกำหนดเป้าหมายในการลดและเลิกใช้โดยการขอความร่วมมือจากชุมชน หรืออาจสนับสนุนงบประมาณปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนและสัตว์น้ำวัยอ่อนตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องเป็นมาตรการเชิงรณรงค์ ขอความร่วมมือ และชี้ให้เห็นว่าทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาทะเลเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร

4.การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับอาสาสมัคร(ฉก.) โดยบูรณาการแผนการออกลาดตระเวนระหว่างใบไม้เขียวและสบทช.10 สำหรับในส่วนของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเภตราขอความร่วมมือในการดูแลพื้นที่ของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

5.กำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดตรัง ว่าด้วยเรื่องพะยูน เพื่อสนับสนุนงบประมาณแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และควรกำหนดให้มีการจัดงานณรงค์เนื่องใน “วันพะยูนโลก” ประจำปีเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการอนุรักษ์พะยูนและระบบนิเวศชายฝั่ง

อ่านฉบับเต็ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน