กรมอุทยานฯ ชี้มาตรการลดปริมาณขยะในพื้นที่อุทยานฯ มีขยะลดลงต่อเนื่องกว่า 1.3 ล้านชิ้น ส่วนอัตราการเกิดขยะลดลงจาก 0.204 กก./คน/วัน เหลือ 0.070 กก./คน/วัน ตั้งเป้าเป็นอุทยานสีเขียว

วันที่ 30 ส.ค. นายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงการจัดการขยะในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ว่า สาเหตุของขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มาจากนักท่องเที่ยวนำขยะเข้ามามากที่สุด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้มีการพักค้างแรม เช่น อุทยานฯเขาใหญ่ หรือแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตกที่มีการปิกนิค เมื่อเข้ามาท่องเที่ยวแล้วไม่นำขยะที่ตนนำมากลับไป นักท่องเที่ยวบางคนไม่ทิ้งขยะลงถัง จึงเกิดเป็นปัญหาอย่างอื่นตามมา คือ สัตว์ป่ากินขยะเข้าไป เช่น กวางในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ที่ต้องตายด้วยการกินพลาสติกเข้าไปไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม

นายทรงธรรม กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวกรมอุทยานฯ ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติสีเขียว ในด้านการจัดการขยะ คือ ไม่มีขยะในอุทยานแห่งชาติด้วยหลักง่าย ๆ คือ นำเข้า=นำกลับ อีกทั้งถังขยะในพื้นที่อุทยานฯ เราจัดเป็นระบบปิด คือป้องกันขยะทุกอย่างไม่ให้ออกมาข้างนอก จัดทำฐานรองรับขยะมูลฝอยที่เป็นฐานถาวร ไม่ให้ถังขยะมูลฝอยเอียงหรือล้มได้ง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามากินได้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้เล็งเห็นว่า การไม่มีถังขยะรองรับในจำนวนมากเกินไป จะเป็นการบีบบังคับให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับไปด้วย ซึ่งเราจะตั้งถังขยะในบางจุดที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่อุทยานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องขยะโดยเฉพาะ จัดทำตารางเวลาในการจัดการขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้ขยะมูลฝอยตกค้าง

“การลดปริมาณขยะในพื้นที่กรมอุทยานฯ ตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ นั้น กรมอุทยานฯ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกกับนักท่องเที่ยว โดยร้อยละ 80 ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เห็นได้จากโครงการต่าง ๆ เช่น “โครงการ ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 สามารถลดขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวลดลง 34,872 ใบ และในเดือน ก.ค.2562 สามารถลดขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวลดลง 305,054 ใบ และยอดรวมของการลดขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว 4,592,391 ใบ ยอดขยะที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงถึงความร่วมมือของนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น” นายทรงธรรม กล่าว

นายทรงธรรม กล่าวว่า ส่วนอัตราการเกิดขยะมูลฝอยในอุทยานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ ‪2558-2562 ‬พบว่าปี 2558 มีอัตราการเกิดขยะ 0.204 กิโลกรัม/คน/วัน, ปี 2559 มีอัตราการเกิดขยะ 0.200 กิโลกรัม/คน/วัน, ปี 2560 มีอัตราการเกิดขยะ 0.159 กิโลกรัม/คน/วัน, ปี 2561 มีอัตราการเกิดขยะ 0.120 กิโลกรัม/คน/วัน และปี 2562 มีอัตราการเกิดขยะ 0.070 กิโลกรัม/คน/วัน ซึ่งยอดการเกิดขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยในอุทยานแห่งชาติ ในปี 2558 มีปริมาณขยะ 2,648,171.94 กิโลกรัม ส่วนในปี 2562 มีปริมาณขยะลดลงเหลือ 1,310,071.07 กิโลกรัม

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ร้านอาหาร ร้านค้า ของอุทยานแห่งชาติ ใช้ภาชนะที่สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือภาชนะที่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น การห่ออาหารโดยใช้ใบตองและกระดาษ ใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก การใช้กล่องอาหารพลาสติกที่ให้นักท่องเที่ยวมัดจำ และส่งคืน เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือให้ร้านค้าที่อยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติช่วยกันงดใช้พลาสติกอีกทางหนึ่งด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน