กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ยื่น 3 ข้อเสนอ ขอมีส่วนร่วม ปมไทยขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

วันที่ 16 ก.ย. ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจาน ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อเสนอของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจานต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถึง คณะกรรมการมรดกโลก และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความว่า ผืนป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าที่ใหญ่สุดในประเทศไทยและมีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าในผืนป่าแห่งนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาศัยทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมด้วยการทำไร่หมุนเวียนมาเป็นเวลากว่า 100 ปี

แต่ผืนป่าแห่งนี้ก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่จนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่คณะกรรมการมรดกโลกยังไม่มีมติประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากเห็นว่าข้อเสนอยังไม่มีความสมบูรณ์รอบด้านเพียงพอ

จึงมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและเมียนมาร์ 2. ให้ศึกษาเปรียบเทียบกรณีหากมีการลดขนาดพื้นที่ที่เกี่ยวกับข้อ 1. ว่าจะมีผลกระทบต่อคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่มรดกโลกหรือไม่อย่างไร 3.ให้รัฐบาลไทยนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกังวลในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหมดในพื้นที่มรดกโลกว่าจะได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งโดยผ่านกระบวนการหารืออย่างเต็มที่กับชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่มรดกโลก

พวกเราชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหลายชุมชนในผืนป่าแก่งกระจานมานานก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติได้ติดตาม รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยื่นขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ด้วยความห่วงกังวล

พวกเรามีความเห็นว่าความสำคัญของผืนป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไม่สามารถแยกออกจากการมีวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยใช้ประโยชน์และหล่อเลี้ยงบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของผืนป่า แหล่งน้ำ สัตว์ป่า ให้ดำรงและสืบทอดต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผืนป่าแก่งกระจานที่ยังคงสภาพความสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้

สืบเนื่องจากการอาศัยอยู่กับป่าของชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมคือพวกเราชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการทำมาหากินเลี้ยงชีพโดยไม่ทำลายทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลักฐานการศึกษาการรับรองทางวิชาการชัดเจนว่าเป็นการทำเกษตรที่รักษาความสมบูรณ์และความสมดุลทางธรรมชาติ

จนกระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนรับรองวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียน (คึฉึ่ยของกะเหรี่ยง) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2556 ลำดับที่ 23

ดังนั้นหากต้องการให้ผืนป่าแก่งกระจานดำรงความสมบูรณ์ไว้ได้อย่างยั่งยืนย่อมไม่สามารถแยกออกจากการดำรงรักษาวิถีชีวิตการทำกินแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ได้

พวกเรามีความต้องการที่จะให้ผืนป่าแก่งกระจานที่ประกอบไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและวิถีชีวิตของชุมชนผู้อยู่ทำกินที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของผืนป่าแก่งกระจานนี้ ได้รับการยกย่องเห็นความสำคัญเป็นมรดกโลก ซึ่งจะช่วยเป็นหลักประกันในการดูแลผืนป่าแก่งกระจานให้สมบูรณ์ตกทอดไปสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

พวกเราเห็นว่าสาระสำคัญของวิถีการทำกินและวัฒนธรรมของชุมชนชาวกะเหรี่ยงของเราสอดคล้องกับแนวทางตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลกอยู่แล้ว พวกเราจึงมีความเห็นว่าในการจัดทำข้อเสนอครั้งใหม่เพื่อปรับปรุงแก้ไขการยื่นขอขึ้นทะเบียนให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกให้ได้รับความสำเร็จเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนโดยทั่วไปควรต้องดำเนินการตามแนวทางดังต่อไปนี้

1.ในการจัดทำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่ผ่านมายังขาดสาระสำคัญในเรื่องของวิถีชีวิตของชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งอาศัยและบำรุงรักษาผืนป่าแก่งกระจานมาโดยตลอด พวกเราเห็นว่ารัฐควรจะทบทวนปรับปรุงระบุถึงการให้ความสำคัญต่อสาระสำคัญที่ยังขาดหายอยู่นี้

ระบุรวมลงไปในข้อเสนอของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้ชัดเจนเป็นข้อเสนอของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติและมรดกโลกทางวัฒนธรรมควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการบำรุงรักษาทรัพยากรป่าแก่งกระจานและสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการมรดกโลก

2.การรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกต้องนั้นไม่สามารถจัดการโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการร่วมกันบริหารจัดการ วางแนวทางในการใช้ประโยชน์และดูแลบำรุงรักษา ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องมรดกโลก แต่กระบวนการดังกล่าวยังมีข้อบกพร่อง เนื่องจากยังไม่มีการให้ข้อมูลความรู้เรื่องมรดกโลกแก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มทุกพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่นยังไม่เคยได้รับทราบถึงข้อดีและข้อเสียของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การจัดให้มีการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาจึงยังไม่ใช่ความเห็นที่แท้จริงของชุมชนท้องถิ่นในทุกกลุ่ม

พวกเราเห็นว่าการจัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งต่อไปจึงจำเป็นต้องจัดให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษา สำรวจ วางแผนการบริหารจัดการ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เนื่องจากการจัดทำข้อมูลที่ผ่านมายังขาดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริงจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอยังมีจุดอ่อนข้อบกพร่องไม่เพียงพอที่จะให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาให้ความเห็นชอบได้

3.พวกเรายังพบว่าปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือทัศนคติและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางส่วนที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการดูแลทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน โดยมีความเข้าใจไปในทางที่ว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นไร่เลื่อนลอย ทำลายความสมบูรณ์ของป่าไม้ วิถีการใช้ชีวิตของผู้คนไม่สามารถอยู่ร่วมกันกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มีการใช้วิธีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เป็นการทำให้พยายามแยกชุมชนกะเหรี่ยงออกจากป่า ทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่อาจใช้ชีวิตตามวิถีการทำไร่หมุนเวียนได้ บางครั้งถึงกับมีการใช้กำลังบังคับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น มีการอพยพโยกย้ายชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในผืนป่าแก่งกระจานให้ออกจากป่าโดยไม่สมัครใจ การจัดสรรจำกัดเขตที่ทำกินที่ทำให้ไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาวกะเหรี่ยงได้ และยังมีลักษณะการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่เกี่ยวข้อง

เช่น กรณีการเผาทำลายที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน กรณีการถูกบังคับให้สูญหายของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ชาวบ้านบางกลอยผู้เรียกร้องสิทธิจากกรณีเจ้าหน้าที่เผาทำลายที่อยู่อาศัย และยังมีการใช้กำลังบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงชุมชนต่างๆให้ออกจากผืนป่าอีกหลายชุมชน

การสร้างมาตรการจำกัดการใช้ประโยชน์ในการเก็บของป่าเพื่อหาเลี้ยงชีพ การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น กระบวนการเช่นนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทำให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงล้วนแต่รู้สึกว่าพวกเราถูกเหยียดหยาม ถูกจัดการเสมือนเป็นพลเมืองในระดับชั้นที่สอง ไม่สามารถมีสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนไทยโดยทั่วไปได้

พวกเราจึงเห็นว่าหากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนยังคงมีทัศนคติและแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเหล่านี้ จะเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เป็นมรดกโลก จึงมีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้

พวกเราต้องการให้ผืนป่าแก่งกระจานและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้เป็นมรดกโลกควบคู่กัน และพร้อมที่จะดำเนินการสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครั้งใหม่นี้ตามแนวทางที่ได้นำเสนอไว้ 3 ข้อข้างต้น

โดยชุมชนท้องถิ่นพร้อมจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่กำลังดำเนินการเรื่องขอเป็นมรดกโลก ซึ่งปัจจุบันพวกเราได้เริ่มกระบวนการสร้างพื้นที่ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ห้วยกระซู่ซึ่งอยู่ในบริเวณผืนป่าแก่งกระจาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมและสามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกอบการทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

ดังนั้น พวกเราจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐยุติการดำเนินการที่จะทำให้การดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์ต้องกระทบกระเทือน ซึ่งพวกเราพร้อมที่จะหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ และขอให้ทางรัฐบาลจัดกระบวนการเพื่อเตรียมทำข้อเสนอของการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางทั้ง 3 ข้อข้างต้น

ซึ่งพวกเราเชื่อว่าหากได้ดำเนินการตามแนวทางเช่นนี้แล้ว จะสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลก และยังสอดคล้องกับแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน