กรมอุทยานฯ พาพิสูจน์ซากเสือ ของกลางวัดหลวงตาบัว ยัน”เขี้ยว-หนัง-กระดูก”อยู่ครบ

วันที่ 20 ก.ย. ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี น.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่พิสูจน์ซากเสือโคร่งที่บรรจุในถังแช่ฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นเสือโคร่งของกลางจากการตรวจยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน ที่ตายไปจำนวน 86 ตัว จากเสือของกลางทั้งหมด 147 ตัว โดยเคลื่อนย้ายไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี 62 ตัว ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

ต่อมาเสือโคร่งของกลาง ทยอยตายลงไป 86 ตัว จากการติดเชื้อไวรัสหัดสุนัข (Canine Distemper Virus, CDV) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัขและสัตว์ป่าหลายชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ส่วนซากเสือโคร่งได้ถูกบรรจุในถังพลาสติก 200 ลิตร และแช่ฟอร์มาลีน

โดยนำซากเสือบรรจุลงในถัง 200 ลิตร ไม่เพียงพอต่อขนาดของเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ จึงต้องตัดชิ้นส่วนเสือ เช่น ขาหน้า ขาหลัง แยกออกจากลำตัว และบรรจุใส่ถังที่เขียนรหัสไว้ เพื่อให้ทราบว่าเป็นซากเสือตัวไหน ขณะที่ซากเสือโคร่งบางตัวที่ถูกแช่มานาน ทำให้ฟอร์มาลีนระเหยและเกิดแก๊สซึ่งจะทำให้ถังระเบิด จึงต้องนำฝังลงดินทั้งถัง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสมโภชน์ กล่าวว่า การพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้ทราบข้อเท็จจริงในพื้นที่สถานที่ที่นำเสือของกลางมาเลี้ยงดูแล เพื่อให้สื่อมวลชนได้เห็นสภาพสิ่งแวดล้อมของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี หนึ่งในสถานที่เก็บรักษาสัตว์ป่าของกลางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเป็นสถานที่เลี้ยงดูแลเสือของกลางที่ยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน โดยเปิดให้สื่อมวลชนได้ชมการเปิดถังเก็บซากเสือของกลางแช่ฟอร์มาลีน 10 % เพื่อรักษาซาก

และป้องกันไม่ให้นำอวัยวะของเสือไปทำประโยชน์ เพราะหนังหรือแม้กระทั่งกระดูกจะเสื่อมสภาพไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก โดยจากนี้จะฝังซากพร้อมกับถังลงพื้นดิน ความลึกไม่น้อยกว่า 3 เมตร

เป็นการให้สื่อมวลชนได้เห็นกระบวนการเก็บรักษาและทำลายซากสัตว์ป่าของกลางที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เก็บรักษาไว้ มีกระบวนการเก็บรักษาตลอดจนทำลายซากอย่างไร โดยการปฏิบัติการจริงกับซากเสือของกลางที่ยึดมาจากวัดป่าหลวงตาบัว

“หลังจากนี้หากมีการชี้แจงให้สังคมเข้าใจและหลักฐานครอบคลุมทั้งหมดแล้วนั้น จะเสนอขออนุมัติจากกรมอุทยานฯ เพื่อทำลายซากเสือโคร่งด้วยการเผา เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดตามหลักวิชาการ ซึ่งจะไม่เหลือซากให้ใครนำไปหาประโยชน์ได้อีก” นายสมโภชน์ กล่าว

ด้าน นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เขาประทับช้าง กล่าวว่า ตั้งแต่รับเสือของกลางมา เสือส่วนใหญ่มีอาการหายใจแรง มีอาการเครียด อุจจาระมีสีคล้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้ดูแลอย่างดีที่สุดตามหลักวิชาการ โดยปรับสภาพการดูแล ตั้งแต่อาหารการกิน ซึ่งรับเนื้อสดมาจากโรงงานผลิตที่ได้รับมาตรฐานของกรมปศุสัตว์

ขณะที่กรงขังมีขนาด 40 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่วิ่งเล่น มีบ่อน้ำ ส่วนพื้นที่ให้อาหาร และส่วนพื้นที่นอน และขนาดกรง 50-60 ตารางเมตร สำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ทุกตัวขังแยกหมด ไม่มีการผสมพันธุ์

ต่อมาเริ่มมีเสือตายตัวแรกในเดือนพ.ค 2559 และเริ่มตายอีก 3-4 ตัว จึงส่งชิ้นเนื้อตัวอย่างให้คณะสัตวแพทย์ มหิดล และพบว่าเป็นโรคอัมพาตลิ้นปล่องเสียงและเป็นโรคหัดสุนัขด้วย โดยทางมหิดลร่วมกับกรมอุทยานฯ ดูแลเสือโคร่งของกลางทั้งหมดเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคร้ายแรง และยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ

จึงเป็นสาเหตุให้เสือทยอยตาย โดยที่เขาประทับช้างได้รับเสือของกลางมา 85 ตัว ตายลงไป 54 ตัว ซึ่งนำฝังกลบไปแล้ว 40 ตัว และแช่อยู่ในถังฟอร์มาลีนอีก 14 ตัว ขณะนี้ยังมีเสือที่มีชีวิตอยู่ 31 ตัว ซึ่งเสือที่เหลืออยู่ทางเจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังเป็นอย่างดี

เมื่อถามว่ากรณีที่ทางวัดท้าว่าให้นำเสือกลับไปเลี้ยง โดยวัดจะเลี้ยงไม่ให้ตายอีก นายบรรพต กล่าวว่า อย่าท้าเลย เราไม่ควรเอาชีวิตสัตว์มาท้ากันแบบนี้ ใครจะว่าเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ดี แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลอย่างดีที่สุดแล้ว และดูแลถูกต้องตามหลักวิชาการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน