เครือข่ายประชาชน จี้รัฐทบทวนแผนน้ำแสนล้าน ชี้ชัดเขื่อนไม่ใช่คำตอบจัดการน้ำท่วม-แล้ง

วันที่ 27 ก.ย. ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการประชุมเครือข่ายประชาชนจากลุ่มน้ำต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 50 คน อาทิ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบูรณาการ นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหารือสถานการณ์น้ำ และโครงการต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชน

ภายหลังการประชุมทั้งหมดได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า กว่า 60 ปีของการจัดการน้ำของประเทศไทย ควรมีการทบทวนแนวทางการจัดการทั้งระบบ สถานการณ์น้ำท่วมและแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีชี้ชัดแล้วว่า โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ สิ่งที่พวกเราอยากเสนอต่อสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐคือ การเดินหน้าโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เสนองบประมาณในการจัดการทรัพยากรน้ำมากถึงแสนล้านบาท มากกว่า 100 โครงการ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณอย่างมหาศาล

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อนในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐต้องคิดค้นการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศแบบใหม่ ต้องดูต้นทุนศักยภาพน้ำภายในลุ่มน้ำที่แท้จริง ยกตัวอย่าง โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำทั้ง โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล และโครงการผันน้ำสาละวิน-ยวม-ภูมิพล คือตัวชี้วัดที่ชัดเจนด้านความล้มเหลวของการบริหารทรัพยากรน้ำภายในลุ่มน้ำของประเทศไทย การจัดสรรน้ำต้องมุ่งตอบสนองภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ใช่การจัดหาน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีการเสนอให้ใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์และการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ตอบสนองการพัฒนา

ในแถลงการณ์ ระบุอีกว่า ประชาชนเครือข่ายแม่น้ำประเทศไทยมีข้อเสนอ ดังนี้

1.การบริหารจัดการน้ำของรัฐต้องทบทวนศักยภาพและการจัดการน้ำต้นทุนภายในลุ่มน้ำให้ชัดเจน ต้องคิดหาแนวทางการจัดการหาน้ำแบบใหม่ ที่คำนึงระบบนิเวศและการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง นโยบายการจัดการน้ำของไทย ควรให้ความสำคัญของการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่รองรับน้ำทางธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ได้ทำหน้าที่สำคัญทางระบบนิเวศ

แผนการจัดการยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ควรจะต้องยึดโยงการจัดการน้ำที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและต้องย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ยึดตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องเคารพสิทธิของชุมชน พวกเราไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่โครงการอนุรักษ์ในการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ

2.ขอให้ยกเลิกโครงการแก่งเสือเต้นและโครงการยมบน-ล่าง และให้มีมติ คณะรัฐมนตรีรองรับให้ใช้แนวทาง “สะเอียบโมเดล” การจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็กกระจายทั่วทั่งลุ่มน้ำยม และให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งทั้ง 14 แนวทางตามที่ชาวบ้านเสนอ เช่น การรักษาป่า การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เป็นต้น

3.ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่แจ่ม ให้ คณะรัฐมนตรีโดยมีมติรับรองการยกเลิกโครงการ

4.โครงการเขื่อนศรีสองรัก ต้องมีการดำเนินการตั้งคณะกรรมศึกษาและทบทวนแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำเลยตลอดทั้งสาย ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนตลอดทั้งลำน้ำในด้านมิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมและวัฒนธรรม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน นักวิชาการ และภาคประชาชน

โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษา จะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อที่จะนำเสนอแนวทางการจัดการและพัฒนาแม่น้ำเลยได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ และวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการฯ จัดการน้ำขนาดใหญ่ ข้อเสนอเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดังกล่าว เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามก่อนการดำเนินโครงการฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58

5.ให้ทบทวนการพัฒนาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล

6.ยกเลิกการใช้เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี

7.ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันน้ำสาละวิน-ยวม เขื่อนภูมิพล เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

8. ยกเลิกโครงการเขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช และเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร 9.ยกเลิกโครงการเขื่อนคลองชมพู จ.พิษณุโลก

อนึ่ง ที่ประชุมมีความเห็นว่าเครือข่ายต่างๆควรร่วมพลังโดยตั้งองค์กรด้านแม่น้ำ ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายแม่น้ำประเทศไทย” โดยมีสมาชิกจากเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องแม่น้ำและผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศมากกว่า 16 องค์กร อาทิ คณะกรรมการสี่หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กลุ่มฮักแม่น้ำเลย สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า (ลุ่มน้ำแจ่มตอนบน) เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมพู จ.พิษณุโลก

กลุ่มอนุรักษ์คลองวังหีบและคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ร้อยเอ็ด-ยโสธร กลุ่มอนุรักษ์ลำเซบาย จ.ยโสธร และกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู

“เครือข่ายแม่น้ำประเทศไทย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน