ที่ปรึกษา รมว.ทส. พร้อมด้วยอธิบดีทช. ลงพื้นที่สำรวจวาฬบรูด้า เดินหน้าวางแผนบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์วาฬอย่างยั่งยืน แนะการชมวาฬบรูด้า ไม่สร้างความเครียดให้กับวาฬ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

 

กรณีกลุ่มเจ็ทสกี โซไซตี้ จัดทริปท่องเที่ยวทางน้ำ ขับเรือเจ็ทสกีกว่า 20 ลำ เพื่อเฝ้าดูวาฬบูรด้า บริเวณอ่าวไทยรูป ตัว ก จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการหากินและระบบนิเวศในพื้นที่อยู่อาศัยของวาฬบรูด้าและสัตว์ทะเลในบริเวณดังกล่าว โดยอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มเจ็ทสกีดังกล่าวแล้ว และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีนั้น

ที่อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่สำรวจวาฬบรูด้า โดยนายยุทธพล เผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้สั่งการให้ตนเร่งรัด กำกับ และติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

อีกทั้ง ให้ลงพื้นที่เป็นการเร่งด่วน และให้เชิญผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวชมวาฬและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมาประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งการประชาสัมพันธ์ การอบรมให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงประชาชนและชุมชนบริเวณใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้หากมีการกระทำใดเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจะได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบถึงผลการประชุมหารือต่อไป อย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าว “ท็อป วราวุธ” รมว.ทส. ห่วงเจ็ทสกีรบกวนวาฬบรูด้าเพชรบุรี

“ผมขอยืนยันว่า วาฬบรูด้าเปรียบเสมือนของขวัญจากธรรมชาติ ที่มอบให้แก่คนไทยทุกคน ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทาง ให้วาฬได้อาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ของเขาในระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์”

ท่าน รมว.ทส.ได้ยกตัวอย่างพื้นที่เกาะเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์ฉลามวาฬ และนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอย่างมีกฎกติกาตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นสามารถมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมาเป็นพื้นที่ต้นแบบให้บริเวณอ่าวไทยรูป ตัว ก.นี้ไปเป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้วยและการจัดประชุมในพื้นที่วันนี้ก็จะได้เค้าโครงข้อกำหนดต่างๆเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาออกคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการท่องเที่ยวชมวาฬได้ต่อไปในอนาคต

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้านนายโสภณ กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยสามารถพบวาฬบรูด้าได้บ่อยที่แถบจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณเขตอ่าวไทยรูปตัว ก.เนื่องจาก มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ โดยวาฬบรูด้าจะกินแพลงตอน, เคย, ปลาขนาดเล็ก และหมึก

ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ สร้างความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการชมวาฬบรูด้าอย่างถูกวิธี ระหว่างผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวชมวาฬบรูด้า ชาวประมง และนักท่องเที่ยว ให้รับทราบถึงข้อควรพึงปฏิบัติในขณะชมวาฬ ดังนี้

เรือต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 4 น็อต ในรัศมี 100 – 300 เมตร และความเร็วเรือไม่เกิน 7 น็อต ในรัศมี 400 เมตร ให้เข้าชมครั้งละไม่เกิน 3 ลำ เข้าหาด้านข้าง ไม่ควรแล่นเรือขวางทาง หรือไล่ตามวาฬ เพราะวาฬอาจได้รับบาดเจ็บ และตื่นตกใจ ควรหยุดเรือ และลอยลำทันทีหากวาฬเข้าใกล้ และไม่เปลี่ยนความเร็วเรือกะทันหัน ไม่เร่งเครื่องตาม เพราะอาจจะทำให้วาฬตื่นตกใจ หากพบวาฬแม่ลูก ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 300 เมตร

ดูวาฬจากเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินสูงไม่น้อยกว่า 300 เมตร เฮลิคอปเตอร์ สูงไม่น้อยกว่า 500 เมตร อากาศยานไร้คนขับ สูงไม่น้อยกว่า 50 เมตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้เจ็ทสกี และสปีดโบ๊ทในการชมวาฬ วาฬอาจจะได้รับบาดเจ็บ เกิดความเครียดจากเสียงเครื่องยนต์ และผู้ขับขี่อาจได้รับอันตรายจากวาฬ ไม่ทิ้งขยะลงทะเล และแม่น้ำลำคลอง ไม่ควรให้อาหารวาฬในธรรมชาติ และลดเสียงให้เบา จากกิจกรรมบนเรือ ไม่สร้างความเครียดให้กับวาฬ

นายโสภณ กล่าวอีกว่า วาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวน ฝ่าฝืน โทษจำคุก 3 – 15 ปี ปรับ 300,000 – 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ในกรณีครอบครอง มาตรา 17 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน หรือซากสัตว์ป่าสงวน โทษครอบครองคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ขอให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เฝ้าชมวาฬบรูด้าอย่างถูกวิธี และปฏิบัติตามข้อแนะนำของ ทช. อีกทั้ง ขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังการกระทำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์”

หากการกระทำใดที่อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอให้แจ้ง กรมฯ ทช. เพื่อทราบและแก้ไขโดยทันที หากการกระทำเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ก็จะบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน