ศาลสั่งลดค่าสินไหม “แพรวา” จากเดิม 30 ล้าน เหลือ 19 ล้านบาท ชี้ลดหย่อนตามพฤติการณ์ระบุคนขับรถตู้ใช้ความเร็วสูงมีส่วนกระทำผิดแม้ไม่ได้ก่อผลโดยตรง

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุ น.ส.แพรวา หรือ อรชร (นามสมมติ) ขับรถยนต์ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำ เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.2553 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมติ) เยาวชนหญิง ที่ขับรถยนต์ซีวิค รวมพันเอกรัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นางนิลุบล อรุณวงศ์ บิดาและมารดา ของเยาวชน, นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค, นายสันฐิติ วรพันธ์, น.ส.วิชชุตา วรขจิต และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย 1-7 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 54 เรื่องกระทำละเมิด ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 58 โดยเห็นว่าคดีน.ส.แพรวา เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำละเมิด จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อรับฟังได้ว่า น.ส.แพรวา จำเลยที่ 1 กระทำผิด บิดาและมารดา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ก็ไม่ได้นำสืบถึงความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย พิพากษาให้น.ส.แพรวา บิดา และมารดาของน.ส.แพรวา ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ค่าไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าอื่นๆให้กับโจทก์ร่วม รวม 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่ละคน ในจำนวนเงินแตกต่างกันตั้งแต่ คนละ 4,000-1,800,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ต่อมาโจทก์ที่ 5 ,11 และ จำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

โดย ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานหลักฐานเห็นได้ว่าพฤติการณ์กระทำละเมิดไม่ได้เกิดจาก จำเลยที่1 เพียงฝ่ายเดียว พฤติการณ์การขับรถของ นาง นฤมล ปิตาทานัง ผู้ขับรถตู้ที่ได้ขับด้วยความเร็วสูง ซึ่งเป็นการประมาทเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ การเรียกค่าเสียหายจากค่าขาดไร้อุปการะจำเลยที่ 1-3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินควร ตามที่จำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์ นั้นก็ได้ความว่านางนฤมล ขับรถตู้ด้วยความเร็วสูง แต่ต้องเท็จจริงไม่ได้หมายความว่า นางนฤมลขับตัดหน้า หรือขับเสียหลักชนรถยนต์จำเลยที่ 1 ขับ เพราะหากจำเลยที่1 ไม่ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อแซงคนขับรถตู้โดยสาร ก็จะไม่เกิดการเฉี่ยวชนกัน จึงฟังได้ว่าจำเลยที่1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมากกว่า นางนฤมล กรณีไม่ได้เรื่องที่จำเลยที่ 1 หรือ นางนฤมล มีความประมาทเลอเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตามที่จำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์

และเมื่อพิจารณาค่าขาดไร้อุปการะตามที่ศาลชั้นต้องกำหนดให้โจทก์แต่ละรายเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว แต่เมื่อฟังว่า นางนฤมลมีส่วนประมาทอยู่บ้างย่อมถือมีส่วนทำผิดความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยแต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1- 5, 9-19, 21-22, 25-28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาท
และให้จำเลยที่4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สำหรับคดีอาญา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชน และครอบครัว 1 ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา อายุ 17 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ต่อศาลเยาวชน และครอบครัวกลางในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุในผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหายนั้น ซึ่งคดีได้ถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกน.ส.แพรวา 3 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 4 ปี บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี และห้ามขับรถจนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปี ซึ่งน.ส.แพรวา ได้ยื่นฎีกาสู้คดี แต่ศาลไม่รับฎีกาจึงทำให้คดีสิ้นสุดตามคำพิพากษาดังกล่าว

ด้าน นางทองพูล พานทอง มารดาของ นางนฤมล คนขับรถตู้ ซึ่งเป็น 1 ในโจทก์ร่วม กล่าวว่า ในส่วนของลูกสาวตนที่ศาลอุทธรณ์มองว่ามีความผิดฐานขับรถเร็วด้วย ส่วนเงินค่าเสียหายเดิมนั้นศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่ตนประมาณ 150,000 บาท แต่พอมาถึงชั้นอุทธรณ์ศาลก็พิพากษาแก้ค่าเสียหายให้แก่ตนเหลือ 120,000 บาท ซึ่งลดจำนวนเงินรวมถึงผู้เสียหายรายอื่นด้วย ส่วนเรื่องจะยื่นฎีกาหรือไม่นั้นต้องขอประชุมร่วมกับผู้เสียหายคนอื่นก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน