กะเหรี่ยง ร้องแก้ไขละเมิดสิทธิชุมชน ก่อนขึ้นทะเบียน มรดกโลกแก่งกระจาน

มรดกโลกแก่งกระจาน / วันที่ 18 ธ.ค. ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง ที่อาศัยอยู่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหลายชุมชนในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาเนิ่นนาน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาในพื้นที่และประกาศเป็นพื้นที่ป่าทับที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ จาก 12 ชุมชนในอำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคาจังหวัดราชบุรีกว่า 100 คน

ออกข้อเรียกร้องเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงหน่วยงานของรัฐและองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนคณะกรรมการมรดกโลก ให้แก้ไขปัญหาให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยมานาน ก่อนจะเสนอผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลก

ตามที่ประเทศไทยดำเนินการเสนอให้พื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ล่าสุดในปี 2562 คณะกรรมการมรดกโลกมีมติยังไม่ประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นคือ

1. ให้ดำเนินการเรื่องขอบเขตระหว่างไทยและเมียนมาร์

2. ให้ศึกษาเปรียบเทียบกรณีหากมีการลดขนาดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับข้อหนึ่งว่ามีผลกระทบต่อคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ มรดกโลกหรือไม่อย่างไร

3. ให้รัฐบาลไทยนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเกี่ยวกับข้อกังวลในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหมดในพื้นที่มรดกโลกว่าจะได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาหรือขัดแย้ง โดยผ่านกระบวนการหารืออย่างเต็มที่กับชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่มรดกโลก

ในจดหมายเปิดผนึกของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 อ้างว่า หน่วยงานของไทยได้ดำเนินโครงการต่างๆตามข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง เช่น จัดสรรที่ดิน ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย บูรณาการหน่วยงานต่างๆเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยง และจะทำข้อตกลงประชาคมร่วมกันกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

 

พวกเราชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงขอยืนยันว่า ไม่ได้เรียกร้องตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวอ้าง ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ไม่ได้รับการพัฒนาและไม่มีข้อตกลงประชาคมร่วมกับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ข้อเสนอและข้อเรียกร้องของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่ให้รับดำเนินการดังต่อไปนี้

1.รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดำเนินการรวบรวมข้อมูล ปัญหา มีมาตรการในการแก้ไขในเรื่องที่ดินพิพาทตามหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การทำไร่หมุนเวียน ของชาวกะเหรี่ยง และรัฐต้องจัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ จัดทำข้อเสนอในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยไม่อพยพ ยอมรับพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ

2.รัฐต้องต้องให้ชาวกะเหรี่ยงสามารถใช้วิถีชีวิตในพื้นที่ดั้งเดิม เช่น บ้านใจแผ่นดินบางกลอยบน บ้านสวนทุเรียนชุมชนแพรกตะลุ้ย บ้านป่าหมากชุมชนแพรกตะคร้อได้

3.รัฐต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม

4.รัฐต้องให้ชาวบ้านจัดการชุมชนและพื้นที่ของตนเองตามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

5.รัฐต้องออกบัตรประจำตัวประชาชนรับรองคน ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน รับรองสิทธิในที่ดินของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

6.รัฐต้องให้สิทธิชาวกะเหรี่ยง ดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม เช่นทำไร่หมุนเวียน เก็บของป่า ภาษาและวัฒนธรรม

7.รัฐต้องยุติการจับกุม ข่มขู่ บังคับ เผาบ้าน และยุติการสำรวจการถือครองพื้นที่ป่า (หลักCN) ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 แต่ให้ส่งเสริมและยอมรับการใช้มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ระบุให้ยุติการจับและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัยและดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมตลอดจนเพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัยดำเนินชีวิต และใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายหรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว

ด้าน นางวันเสาร์ ภุงาม อายุ 53 ปี แกนนำบ้านท่าเสลา อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการประกาศให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่ที่ผ่านมาทางรัฐและเจ้าหน้าที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตามที่มีการกล่าวอ้างเลย ปัจจุบันยังถูกละเมิดสิทธิ์และจับกุมดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่อยู่ตนเองยังถูกจับข้อหาบุกรุกป่า ทั้งๆที่เกิดที่นี่ และทำกินตามวิถีชีวิตกะเหรี่ยงในพื้นที่ตลอดมาและเป็นที่ทำกินเดียวที่มีอยู่

นางวันเสาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้รัฐยอมรับในวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ให้ชาวกะเหรี่ยงสามารถจัดการที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเองตามวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนขอให้รัฐอย่ารังแกประชาชนคนดั้งเดิม ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ทำความลำบากให้กับชุมชนและชาวบ้านตลอดมา

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน