มันดาลาว บ้านของช้าง ต้นแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตร-ต่อยอดอนุรักษ์ช้าง

ไม่ใช่โรงละครสัตว์หรือสวนสัตว์แบบเดิมๆ ที่เรารู้จัก มองเผินๆ ไม่ต่างจากปางช้างทั่วไป ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเสพประสบการณ์บันเทิงกับเจ้ายักษ์ใหญ่ใจดีอย่าง “ช้าง”

ณ ผืนดินที่มีสายน้ำคานไหลผ่าน ป่าใหญ่ปกคลุมไปทั่วทั้งที่ลาดเชิงเขา เหล่าโขลงช้างเพิ่งขึ้นจากน้ำ ยืนอยู่ไม่ไกล จากตลิ่งพวกมันกำลังก้มใช้งวงดูดฝุ่นดินสีแดงแล้วตวัดพ่นเคลือบไปทั่วทั้งตัว ผิวสีเข้มแลดูสดใสขึ้นมา นี่คือพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง

ที่นี่เสมือนเป็นบ้านอีกหลังของช้าง “มันดาลาว (MandaLao)” ปางช้างแห่งแรกของ สปป.ลาว ที่เป็นมิตรกับช้าง

จะเลี้ยงช้างให้ดีต้องเลี้ยงเหมือนลูก สอนทั้งร่างกายและจิตใจ คนกับช้างสื่อสารกันเข้าใจได้ ไม่จำเป็นต้องไปบังคับ” อาจารย์ประสบ ทิพย์ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านช้างจากประเทศไทย มีประสบการณ์ลองผิดลองถูกสั่งสมภูมิความรู้งานอนุรักษ์ช้างไทยมาร่วม 30 ปี ตัดสินใจมาเริ่มต้นพัฒนาปางช้างที่หลวงพระบางเมื่อ 3 ปีก่อน

อาจารย์ประสบ เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “มันดาลาว (MandaLao)” บ้านของช้างแห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ แรกเริ่มของ “ไมเคิล โวคเลอร์ (Michael Vogler) และ อดัม เคสเตอร์โฮลต์ (Adam Kesterholt)” หนุ่มอเมริกันผู้รักสัตว์่ มีประสบการณ์ทำงานอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะส่วนร่วมในงานปกป้องการล่าลิงอุรังอุตังในอินโดนีเซีย และการอนุรักษ์ลิงกอลิลาร์ที่รวันดาและคองโก

พวกเขาเข้ามาหาผมแล้วนำเสนอแนวคิดว่าอยากทำปางช้างในรูปแบบใหม่ๆ เป็นธุรกิจที่มีความเป็นมิตรกับสัตว์ ซึ่งตรงกับแนวคิดของตนพอดี จากประสบการณ์ทำปางช้าง ทั้งดีและไม่ดี และงานอนุรักษ์กับหลายองค์กร ทำให้มองออกว่าแนวคิดนี้ควรเริ่มต้นอย่างไร จึงตัดสินใจมาช่วยที่นี่

สำหรับ “อดัม” บอกว่า เมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีปางช้างมากที่สุดในลาว ทั้งหมดมีรูปแบบการให้บริการนักท่องเที่ยวที่เหมือนกัน เช่น การขี่ช้าง การเล่นน้ำกับช้าง รวมถึงการแสดงช้าง ซึ่งถือเป็นการทารุณกรรมช้าง

ขณะที่ประชากรช้างเลี้ยงในประเทศลาวมีอยู่เพียง 400-500 เชือก ขณะที่ในธรรมชาติเหลือช้างป่าไม่เกิน 500 เชือกเท่านั้น นั่นแสดงว่าช้างเลี้ยงเกือบทั้งหมดถูกใช้งานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงอยากให้มีโมเดล “ปางช้างรูปแบบใหม่” ที่คำนึงถึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ และสามารถต่อยอดไปถึงการ “อนุรักษ์ช้าง”

อาจารย์ประสบ กล่าวว่า ในอดีตเรื่องสวัสดิภาพช้างในสวนสัตว์ เราใช้คำว่า “No Riding (ไม่มีการขี่)” แต่สำหรับที่ “มันดาลาว (MandaLao)” ช้างได้รับการดูแลมากกว่านั้น ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แม้ช้างเป็นสัตว์ที่กินอาหารชั่วโมงละ 20 กิโลกรัม ตลอด 18 ชั่วโมงต่อวัน แต่อาหารใจสำคัญกว่าอาหารกาย เพราะช้างเป็นสัตว์สังคมมีการสื่อสารทั้งร่างกายและอารมณ์ เราจึงตั้งใจออกแบบที่นี่เพื่อให้เป็นต้นแบบ

“เมื่อก่อนเรามองว่าการขี่ช้างเป็นวัฒนธรรม มองการใช้ตะขอเพื่อบังคับช้างให้สร้างความบันเทิงเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันเรามองเรื่องสวัสดิภาพช้างเป็นเรื่องสากล แถบบ้านเราอยู่กับช้างมาแล้ว 700 ปี รู้ว่าช้างมีการเจริญเติบโตทางร่างกาย และพัฒนาความฉลาดไม่สิ้นสุด จากประสบการณ์ ทำให้คนสื่อสารกับช้างได้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบเดิมๆ” อาจารย์ประสบ กล่าว

บนพื้นที่ 1,500 ไร่ ของ “มันดาลาว(MandaLao)” เกือบทั้งหมดคือพื้นที่หากินของช้าง ทั้งอาหารเส้นใย อาหารพลังงาน และอาหารสมุนไพร ช้างทั้ง 9 เชือกจะถูกปล่อยอย่างอิสระ ไม่มีการล่ามโซ่ หรือใช้ตะขอบังคับอย่างสิ้นเชิง โดยมีควาญช้างดูแล ไม่มีคำว่า “เจ้านายหรือสัตว์เลี้ยง” ควาญกับช้างคือ “เพื่อน”

อาจารย์ประสบ เล่าว่า เราเริ่มต้นทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เจรจากับชุมชน ว่าการเปิดปางช้างไม่ต้องกังวลว่าช้างจะหลุดออกไปกินพืชไร่ของชาวบ้านเสียหาย หรือไปทำลายป่าให้เสียหาย เพราะมีการวางแผนปลูกพืชอาหารหมุนเวียนให้ช้างอย่างเพียงพอ และยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“แม้จะตัวใหญ่ที่สุดแต่ช้างอ่อนแอที่สุดในป่า แต่มันฉลาดที่สุดรู้จักกินพืชสมุนไพรมากกว่า 73 ชนิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่เช่นนั้นคงไม่อยู่รอดหรือมีอายุมากกว่ามนุษย์ 50 ล้านปี เราจึงต้องผสมผสานปลูกพืชทั้งอาหารและสมุนไพรให้ช้าง และอาหารพลังงานบางส่วนต้องรับซื้อจากชุมชนโดยรอบประมาณ 8,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 240,000บาท) ต่อเดือน” อาจารย์ประสบ กล่าว

“ประชาธิปไตยของช้าง” นี่คือสิ่งที่ควาญช้างต้องเรียนรู้เพื่อสื่อสารกับช้าง อาจารย์ประสบ อธิบายว่า ช้างเหล่านี้เป็นช้่างเลี้ยงถูกตัดสานสัมพันธ์กับป่า ไม่มีเพื่อน ควาญจึงต้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ธรรมชาติของช้าง เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่กันเป็นโขลง เมื่ออยู่รวมกันช้างต้องหล่อหลอมรวมกันเป็นครอบครัว ช้างจะเลือกแม่ใหญ่ ที่ไม่ใช่ตัวที่แก่ที่สุดแต่เป็นตัวที่ฉลาดที่สุด มีความมั่นใจที่สุด เป็นที่ปรึกษาตัวอื่นได้ โดยมีแม่แปรกหรือแม่รับ เป็นผู้ช่วยดูแลช้างเด็ก เมื่อนำมาอยู่รวมกันใหม่ๆ ควาญต้องคอยดูพฤติกรรมว่าอยู่ด้วยกันได้หรือมีการยอมรับกันอันนี้คือความสำเร็จของควาญ

“ถ้ามีช้างมาใหม่เราต้องแยกออกมาให้อยู่กับแม่ใหญ่ก่อน ถ้าแม่ใหญ่ยอมรับ แล้วพวกมันก็จะพาไปรู้จักสัมพันธ์ กับตัวอื่นๆกันเอง เหมือนกันการสอนช้างให้รู้จักการกิน เดิน เล่น เรียนรู้ ควาญจะเป็นผู้ถ่ายทอดให้แม่ใหญ่ แล้วมันก็จะนำไปสื่อสารให้กับตัวอื่นๆ” อ.ประสบ กล่าว

แม้หลวงพระบางจะมีปางช้างมากกว่า 10 แห่ง แต่แนวทางใหม่ของ “มันดาลาว (MandaLao)” ในการสร้างปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง และผลักดันให้เป็นต้นแบบ ก็ได้รับการตอบสนองจากนักท่องเที่ยวอย่างดี จนเป็นปางช้างยอมนิยมอันดับหนึ่งของหลวงพระบาง

“อดัม” ยอมรับว่า นักท่องเที่ยวจากตะวันตกกำลังปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการท่องเที่ยว คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น แต่ยังมีบางกลุ่มที่นิยมการนั่งช้างอยู่เพราะราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่เจ้าของปางช้างที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ต้องหาจุดสมดุลระหว่างราคาและสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ที่นี่อยู่ได้ ก็น่าจะเป็นแบบอย่างให้ปางช้างอื่นๆ นำรูปแบบของเราไปปรับใช้

นักเท่องเที่ยวเดินเข้ามา เราบอกตรงๆ ว่ามาที่นี่ไม่มีขี่ช้าง แต่คุณจะได้รู้จักและเข้าใจช้างชีวิตของช้าง
มากกว่าการขี่ เราก็ต้องให้ความรู้ไปด้วย คิดว่าทิศทางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะค่อยๆ เปลี่ยนได้” อดัม กล่าว

ด้าน “สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร” หัวหน้าโครงการรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตไปทั่วโลก หลายประเทศนำสัตว์มาเป็นจุดขาย แต่ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารทำให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจต่อธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น

โดยเฉพาะปางช้างที่มีเหตุการณ์ช้างทำร้ายนักท่องเที่ยวและควาญช้างจนบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงมองว่าการนำช้างมาให้บริการ หรือฝึกให้แสดงละครสัตว์เป็นการทารุณกรรมสัตว์สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยขององค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ที่พบว่ากระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น

เมื่อ “มันดาลาว (MandaLao)” เข้ามาปรึกษาและขอความร่วมมือ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ ที่ได้ดำเนินโครงการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติการนำสัตว์ป่ามาใช้ในการบันเทิงทุกรูปแบบ ภายใต้แคมเปญ “สัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง” (Wildlife Not Entertainters) ซึ่งหนี่งในโครงการที่สำคัญคือ การมุ่งสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับช้างมากขึ้น ดังนั้นองค์กรพิทักษ์สัตว์

จึงได้ให้การสนับสนุน “มันดาลาว (Mandalao)” ในการพัฒนาเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างแห่งแรกของหลวงพระบาง โดยการ สร้างที่พักอาศัยของช้างตอนกลางคืน ที่หากินของช้างตอนกลางวัน ระบบน้ำ บ้านควาญช้าง และสถานที่เก็บอาหารช้าง ฯลฯ ซึ่งหวังว่าที่นี่จะะเป็นโมเดลปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง และสามารถขยายผลไปสู่ปางช้างอื่นๆ ทั้งในลาวและไทยต่อไป

นอกจากนี้ “สมศักดิ์” กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ใช้ช้างเป็นจุดขายมานานกว่า 30 ปี จะเลือกแนวทางนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะกระแสโลกได้เปลี่ยนไป การทรมานช้างกลายเป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ ในปัจจุบันภาคธุรกิจเอกชนเริ่มมีหลายแห่งปรับเปลี่ยนรูปแบบแล้ว ดังนั้นภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานเกี่ยวข้องควรเร่งออกนโยบายหรือออกกฏหมาย เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ เพื่อให้ประเทศไทยมีนโยบายที่ดีต่อสัตว์ และให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวของโลก

“ปัญจเดช สิงห์โท” ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า การท่องเที่ยวโดยการขี่และ การบังคับแสดงโชว์ช้าง เช่น ยืนบนเก้าอี้ ไต่เชือก ปั่นจักรยานสามล้อ เตะบอล และวาดรูป เริ่มเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวมีความตระหนักต่อการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์มากขึ้น

ประกอบกับกระแสของโลกมีกว่า 54 ประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกการแสดงโชว์ของสัตว์ป่าไปแล้ว หากประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงกฏหมาย หรือออกนโยบาย ที่เป็นการปกป้องสวัสดิภาพสัตว์และยังมีการจัดการท่องเที่ยวโดยบังคับให้สัตว์เหล่านี้ยังต้องแสดงที่ขัดกับหลักพฤติกรรมของสัตว์ป่า เหล่านี้ อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถูกต่อต้านจากนักท่องเที่ยวแนวคิดใหม่ในระยาวได้ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รีบดำเนินการปรับปรุงนโยบายดังกล่าวต่อไป

กระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างกำลังเติบโต นี่อาจเป็นทางเลือกทางรอดของช้างและปางช้าง
ในประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน