กรมชลฯ แจงสารพัดข้อดี ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล แต่ชาวบ้านรุมค้าน โครงการแสนล้าน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงด้วยเอกสารประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทานว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก นั้น เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำยวมซึ่งเป็นแม่น้ำภายในประเทศ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ที่จ.แม่ฮ่องสอน มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 2,858 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ต่อปี

โดยกำหนดให้ผันน้ำเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนถึงมกราคมเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยวมมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ โดยน้ำที่ผันจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยจะทำการผันน้ำไม่เกินระดับการเก็บกักของเขื่อนภูมิพลที่ 260 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (ม.รทก.) ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนและที่ทำกินที่อยู่สูงกว่า +260 ม.รทก.ตามข้อกังวลของชาวบ้านแต่อย่างใด

ส่วนด้านพื้นที่บริเวณทางออกอุโมงค์ นั้น กรมชลประทานได้มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ-แม่ป่าไผ่ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำให้กับพื้นที่ที่อยู่ด้านท้ายอุโมงค์ ให้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ด้วยเช่นกัน

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ก่อนการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก นั้น กรมชลประทานได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการจัดทำวีดีทัศน์และแบบสอบถามทั้งภาษากระเหรี่ยงและภาษาไทย

นอกจากนี้ ยังมีล่ามช่วยแปลภาษาระหว่างการประชุมทุกครั้ง และภายหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้ง จะทำการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและส่งกลับไปยังผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อนำไปชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่ของตนเอง

ส่วนด้านการชดเชยทรัพย์สินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ จากการลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและต้องชดเชยทรัพย์สินรวม 24 แปลง

คือ บริเวณเขื่อนน้ำยวม 1 แปลง บริเวณอ่างเก็บน้ำยวม 13 แปลง บริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา 4 แปลง บริเวณพื้นที่จัดเก็บวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์จุดที่1 จำนวน 5 แปลง และพื้นที่ถนนชั่วคราว บริเวณอุโมงค์เข้า-ออก หมายเลข 5 อีก 1 แปลง ซึ่งกรมชลประทานจะทำการชดเชยทรัพย์สินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำการสำรวจ ตามข้อกำหนดอย่างเป็นธรรมที่สุด

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ป่าไม้ นั้น ขอชี้แจงว่า การก่อสร้างอุโมงค์เพื่อผันน้ำ เป็นการก่อสร้างใต้ผิวดิน โดยแนวอุโมงค์อัดน้ำมีความยาวทั้งหมดประมาณ 1.82 กิโลเมตร ลอดใต้พื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่เงา แนวอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 61.52 กิโลเมตร ลอดใต้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โซน C ของป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง

ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและแม่ตื่น ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งขวา และป่าสงวนแห่งชาติ-อมก๋อย รวมทั้งอุโมงค์เข้า-ออก(Adit) ทั้งหมด 5 แห่ง ลอดใต้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, 2 และ3 นั้น

ขอยืนยันว่าการก่อสร้างอุโมงค์ทั้งหมดจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่า สัตว์ป่า พื้นที่อาศัย และพื้นที่ทำกินของประชาชนแต่อย่างใด

หากเมื่อทำการขุดเจาะอุโมงค์แล้วเสร็จจะทำการรื้อถอนโครงสร้างอาคารต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บวัตถุระเบิด โรงหล่อและผสมคอนกรีต รวมทั้งสำนักงานและบ้านพัก ชั่วคราวในช่วงการก่อสร้างโครงการฯออกทั้งหมด เพื่อคืนสภาพป่าให้กลับสู่ดังเดิม

อีกทั้งจะทำการปลูกป่า 2 เท่า ของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลาให้เหมาะสมกับประเภทปลา และสภาพพื้นที่ของแม่น้ำยวม รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมประมง หรือสถาบันการศึกษาในการวิจัยเพาะพันธุ์ปลา เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องการเจือสารพิษจากกองหินที่เป็นแหล่งต้นน้ำ นั้น เบื้องต้นจากการสุ่มตรวจแหล่งน้ำผิวดินจำนวน 11 สถานี บริเวณพื้นที่โครงการฯ ไม่พบการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อประชาชนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนติดตามการตรวจสอบการปนเปื้อนของแร่โลหะหนักในดิน บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ พื้นที่กองเก็บวัสดุ รวมถึงชั้นหิน จำนวน 18 จุดสำรวจ และเก็บตัวอย่างปีละ 1 ครั้ง ไปตรวจโดยเริ่มตั้งแต่ระยะการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ไปจนถึงระยะการใช้งาน รวม 17 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ซึ่งกรมชลประทาน ขอยืนยันว่าการดำเนินงานทุกโครงการฯ ได้ยึดหลักปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชน

โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงด้านน้ำ ให้กับทุกพื้นที่ในประเทศ ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และภาคกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

 

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ กล่าวว่า การจัดการน้ำเพื่อการชลประทานที่ผ่านมาใช้วิธีทำตามแรงโน้มถ่วง ส่วนการการสูบโดยใช้พลังงานไฟฟ้านั้นพบว่ามีต้นทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายมักผลักภาระให้ผู้ใช้น้ำ

เช่น โครงการเขื่อนราษีไศลที่ใช้ไฟฟ้าสูบน้ำกว่า 20 สถานี ทุกวันนี้เป็นภาระของชาวบ้านที่ต้องจ่ายค่าไฟจาก 300 บาทเป็น 600 บาทต่อไร่ โดยไม่เคยบอกชาวบ้านมาก่อนเลย ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกับที่กรมชลประทานดำเนินการริมแม่น้ำมูล ที่เขื่อนปากมูล รวมกว่า 30 สถานี มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท และผลักภาระให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่ง จนบางสถานนีต้องหยุดใช้เพราะไม่มีสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำได้

นอกจากนี้ยังมีโครงการน้ำร่องในจังหวัดต่างๆ อีกนับสิบโครงการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่และใช้พลังงานไฟฟ้า จนสุดท้ายชาวบ้านไม่มีปัญญาจ่ายเช่นกัน

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า กรณีผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ถือว่าเป็นโครงการแรกที่มีขนาดใหญ่งบประมาณรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านและมีลักษณะก่อสร้างที่เป็นอุโมงค์ตั้งแต่ต้นจนปลายทาง สร้างเขื่อนยกระดับน้ำและเขื่อนก่อนปล่อยน้ำ ซึ่งมีต้นทุน แม้จะอ้างว่ามีค่าชดเชย สุดท้ายก็มักไปติดเงื่อนไขต่างๆ

เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนห้วยน้ำรี จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เริ่มอนุมัติมาแล้ว 8 ปี แต่จนถึงปัจจุบันยังจ่ายค่าชดเชยไม่แล้วเสร็จเพราะติดกฎระเบียบ หรือกรณีเขื่อนคลองสังข์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สร้างไปแล้วบางส่วนแต่ยังจ่ายค่าชดเชยไม่เสร็จเช่นกัน

ผมไม่เชื่อคำยืนยันของรองอธิดีกรมชลประทานอย่างสิ้นเชิง เพราะผมลงไปดูพื้นที่มาหลายแห่ง ทั้งเขื่อนน้ำรี และที่อื่นๆ วันนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองเลยว่าจะได้ค่าชดเชยหรือไม่ เมื่อไร คำพูดของท่านล้มเหลว หากไม่ปรับเรื่องกฎระเบียบหากจะดำเนินโครงการผันน้ำยวมจริง

เบื้องต้นควรการทบทวนให้ชัดเจนก่อนว่า เขื่อนแห่งนี้ขาดแคลนน้ำทุกปีหรือบางปี คุณจะสูบน้ำขณะที่น้ำกำลังท่วมจะทำได้อย่างไร และระยะเวลาอีก 6 เดือนที่อุโมงค์ไม่ได้ใช้การอะไรเลย จะทำให้อายุการใช้งานของอุโมงค์ลดน้อยลงหรือไม่

ในเชิงเทคนิคผมยืนยันว่าถ้าสูบน้ำขึ้นไปที่สูงแล้วปล่อยลงมา ยังไม่เห็นโครงกมารใดที่ใดคุ้มเลยแม้แต่โครงการสูบกลับที่ลำตะคลอง เพราะอัตราค่าไฟฟ้าแพงทำให้มูลค่าน้ำต้นทุนสูงขึ้น สุดท้ายปลายทางใครจะเป็นผู้จ่ายต้องพูดกันให้ชัดตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่พูดหลังจากเสร็จแล้ว”นายหาญณรงค์ กล่าว

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า การขุดอุโมงค์ยาวทะลุป่านั้น ไม่ใช่แค่เปิดหัวและเปิดท้ายเท่านั้น แต่ต้องเปิดตรงกลางและมีถนนเข้ามา ซึ่งเช่นนี้จะทำลายป่าหรือไม่ ที่สำคัญมั่นใจได้อย่างไรว่ากองดินที่ขุดออกมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังมีเทคโนโลยีและประสบการณ์เกี่ยวกับการขุดอุโมงค์น้อยมาก

เพราะฉะนั้นการขุดอุโมงค์ยาวขนาดนี้ คิดว่าอย่างไรก็มีผลกระทบแน่ และระบบนิเวศน้ำของน้ำยวมกับระบบนิเวศของน้ำในเขื่อนที่จะไปลงมีความต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ การเอาน้ำคุณภาพจากพื้นที่แห่งหนึ่งไปใส่อีกในพื้นที่อีกหนึ่งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่รัฐบาลและกรมชลประทานต้องทบทวนให้ดีคือ ท่านเคยมีประสบการผันน้ำใหญ่ขนาดนี้หรือไม่ ผมเคยเห็นแต่โครงการขนาดเล็กกว่านี้ ซึ่งหลังจากฝันไปแล้ว แต่พอไปทำจริงเจอปัญหาต่างๆ มากมาย เหล่านี้ไม่ได้รวมอยู่ในต้นทุน ที่ต้องเสี่ยงมากกว่านั้นคือเมื่อเป็นอุโมงค์ จะควบคุมการพังทลายของอุโมงค์ได้แค่ไหนทำไมไม่ไปดูเรื่องการจัดการน้ำปิงทั้งระบบก่อน”นายหาญณรงค์กล่าว และว่า

เคยมีปัญหาเรื่องอุโมงค์ผันน้ำแม่แตงไปลงเขื่อนแม่งัด ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นอุโมงค์ โดยลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท แต่เกิดดินถล่มจนวิศกรเสียชีวิต ประสบการณ์เหล่านี้ควรนำมาพิจารณา ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านนั้น บริเวณดังกล่าวเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ซึ่งชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าพวกเขาแทบไม่มีส่วนร่วมที่แท้จริง และไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น

การที่รองอธิบดีกรมชลประทานอ้างว่าทำกระบวนการมีส่วนร่วมแล้วนั้น เป็นการมีส่วนร่วมที่มาตามสายผู้นำและฝ่ายปกครอง แต่ชาวบ้านจริงๆ ยังมีส่วนร่วมน้อยมาก

ขณะที่ น.ส.มึดา นาวานาถ ชาวบ้านท่าเรือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และสมาชิกเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ตนเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 มีชาวบ้านเข้าร่วมราว 40-50 คน โดยเมื่อสังเกตพบว่าชาวบ้านไม่ค่อยได้ทราบข้อมูล

เมื่อตนถามเป็นภาษาปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ก็ได้รับคำตอบว่าฟังไม่รู้เรื่อง เพราะวิทยากรพูดเป็นภาษาไทย ที่สำคัญคือไม่มีล่าม

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่าในวันดังกล่าวมีมีคนๆหนึ่งเดินไล่เก็บบัตรประชาชนของชาวบ้านและแจกแบบประเมิน แต่ชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจและเขียนไม่ได้ คนๆ นั้นก็กรอกแบบสอบถามให้พร้อมกับระบุว่าชาวบ้านเห็นด้วย

ทำให้คิดว่าเขาทำแบบประเมินเช่นนี้ได้อย่างไร และในที่ประชุมตนได้ถามถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะหมู่บ้านท่าเรือที่ตนเกิดจะเป็นหมู่บ้านแรกที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

ดิฉันถามชาวบ้านเป็นภาษาปกาเกอะญอว่าใครฟังไม่รู้เรื่องบ้าง ปรากฏว่าชาวบ้านต่างยกเมือกันเต็มไปหมด เอกสารที่เขาแจกชาวบ้านอ่านไม่รู้เรื่อง ดิฉันยืนยันว่าระหว่างประชุมครั้งนั้นไม่มีล่ามแปลเป็นภาษาปกาเกอะญอเลย แม้แต่ภาษาเหนือก็ไม่มี

ทั้งๆ ที่คนที่นี่เกือบร้อยเปอร์เซ็นใช้ภาษาปกาเกอะญอ ดิฉันรู้สึกโกรธมาก พอชาวบ้านลุกขึ้นถามเขาก็ตอบตามประสาเขา เช่น จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ชาวบ้านจะได้มีถนนเส้นใหม่” น.ส.มึดา กล่าว

น.ส.มึดา กล่าวว่า ในการจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่อำเภอสบเมย แต่ไม่ได้แจ้งให้ตนทราบ เพียงแต่ตนรู้มาจากคนในพื้นที่จึงไปร่วม และได้เข้าไปคุยกับชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย และคิดว่าทำอะไรสักอย่างเพราะเขาไม่ฟังเสียงชาวบ้านเลย

ในที่สุดชาวบ้านเสนอว่าให้ทำป้ายไม่เห็นด้วยกับเขื่อน แต่เจ้าหน้าที่พยายามข้อร้องไม่ให้ถ่ายภาพที่โชว์ป้ายคัดค้าน อย่างไรก็ตามในการจัดประชุมครั้งนั้นได้มีล่ามพูดภาษากะเหรี่ยง แต่เป็นกะเหรี่ยงสะกอ ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นโปว์

“ในการประชุมครั้งที่ 4 มีชาวบ้านมากันเต็มห้องประชุม มีตำรวจ-ทหารเต็มไปหมด แต่เท่าที่สังเกตชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเป็นคนหน้าใหม่ซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับการเชิญชวนให้เข้าห้องประชุม” น.ส.มึดา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน