“วราวุธ” รมว. ทส. เปิด “พื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรแบบมีส่วนร่วม” จ.ระยอง ทช.สานต่อพิจารณาพื้นที่ในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการขยะทะเลแบบครบวงจร พร้อมขยายผลต่อพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่สวนสาธารณะโขดปอ และชุมชนเนินพระ เทศบาลนครระยอง จ.ระยอง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.ระยอง ให้การต้อนรับ พร้อมมีผู้บริหารระดับสูง หน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึง ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า นโยบายสำคัญประการหนึ่งที่ตนพยายามผลักดันและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ มาโดยตลอด ได้แก่ การแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและครบวงจร อีกทั้ง ต้องแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาขยะตกค้างและขยะที่ถูกปล่อยทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นที่ประจักษ์และรับรู้ของสังคมปัจจุบัน

“อย่างไรก็ดี มูลเหตุสำคัญของปัญหาเหล่านี้ คือ กิจกรรมของมนุษย์ที่สร้างขยะไม่เว้นในแต่ละวัน สำหรับช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้แสดงศักยภาพในการเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียนในการต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติกในทะเล โดยได้ประกาศ Roadmap การบริหารจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และปฏิญญากรุงเทพ ในการต่อสู้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล”

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียน ตนได้ดำเนินการอีกหลายโครงการ ได้แก่ การเตรียมการประสานความร่วมมือกับประเทศเนเธอร์แลนด์ในการใช้เทคโนโลยีในการเก็บขยะในแม่น้ำและทะเล การผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดเก็บขยะและนำขยะกลับมาใช้ใหม่

อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญและต้องเน้นย้ำ ได้แก่ การผลึกกำลังความร่วมมือกับห้างร้านกว่า 80 แห่ง งดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยกำหนดเริ่มใน “วันที่ 1 มกราคม 2563” อย่างที่ได้ประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันทั้งกับหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกสังกัดทส. ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและครบวงจร สนองตอบนโยบายรัฐบาลและแนวคิดของรัฐมนตรีทส.

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จุดประกายความคิดในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร โดยโครงการนี้ ได้ริเริ่มเตรียมการตั้งแต่สมัยตนยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสานต่อนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคนปัจจุบัน

สำหรับการเปิดตัวโครงการครั้งนี้ ได้รับความสนใจและความร่วมมือเกินความคาดหมาย ทั้งจากองค์กรระดับนานาชาติ ได้แก่ UNDP, UNEP, JICA, IUCN, GIZ, WWF และองค์กร Ocean Cleanup ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึง ผู้แทนจากสถานฑูตประจำประเทศไทย องค์กรชั้นนำจากภาคเอกชนที่ดำเนินงานร่วมกับ ทส. ในการจัดการขยะในทะเล รวมทั้ง ประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง สำหรับการเลือกพื้นที่เปิดตัวในครั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเทศบาลนครระยอง ในการคัดเลือกและร่วมดำเนินงาน

อ่านข่าว ทส.จับมือองค์กร Ocean Cleanup เนเธอร์แลนด์ มุ่งแก้ไขปัญหาขยะทะเล

โดยได้พิจารณาถึงความพร้อมของพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งความเข้มแข็งของประชาชน และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการขยะทะเลแบบครบวงจรได้อย่างแน่นอน

ปลัดทส. ระบุว่า ตามตนได้สั่งการให้นายโสภณ พัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะโขดปอ และชุมชนเนินพระ เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง ให้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบและขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ต่อไป

แม้ว่าที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) บริเวณปากแม่น้ำและคลองสาขาที่เชื่อมลงสู่ทะเลไปแล้วกว่า 24 จุด ใน 11 จังหวัดชายฝั่งทะเล โดยได้รับความร่วมมือจาก SCG ในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ สามารถกักขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้กว่า 196,787 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 20 ตัน รวมถึง โครงการ จากภาคส่วนต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก เป็นต้น

การดำเนินการจัดการขยะพลาสติกในทะเลแบบครบวงจร หัวใจสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เพียงแค่ทิ้งให้ถูกที่ และลดการใช้อย่างไม่จำเป็น รวมถึง การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะขยะพลาสติกเดินทางได้เร็วและไกลกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีไม่ว่าจะทันสมัยเพียงใด ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างสิ้นซาก หากขาดความร่วมมือและความตระหนักคิดของทุกคนที่จะช่วยกัน

“ขยะพลาสติกที่ทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม สร้างความสูญเสียให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ จึงอยากจะขอความร่วมมือของทุกคนในการร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เชื่อว่าอีกไม่นานปัญหาขยะพลาสติกในทะเลจะหมดไป ขอให้ทุกคนเริ่มลงมือทำนับจากวันนี้ อย่าปล่อยให้เป็นภาระของระบบนิเวศและชนรุ่นหลังอีกต่อไป” นายจตุพร กล่าวย้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน