เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากเหตุอุทกภัยน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.59 ถึงวันที่ 12 ก.พ.60 ใน 12 จังหวัด มีประชาชนได้รับความผลกระทบ 587,544 ครัวเรือน สถานที่ราชการ โดยเฉพาะโรงเรียนได้รับความเสียหาย 2,336 แห่ง

โดยนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. ได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้พระราชทานเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จำนวน 40 ล้านบาท

ทั้งนี้นายกฯ ได้มอบเงินดังกล่าว ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการ แบ่งเป็นสำหรับเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิต ซึ่งมีเด็กได้รับทุนเรียนต่อจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 27 ทุน เป็นเงิน 15 ล้านบาท ส่วนอีก 25 ล้านบาท มอบให้ สพฐ.นำไปใช้ในการจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้ให้นักเรียนและครู ภายในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากข้อมูลโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายและต้องจัดซื้อโต๊ะนักเรียนและครูใหม่ จำนวน 267 โรงเรียนใน 10 จังหวัด รวม 11,033 รายการ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี 19 โรง จำนวน 1,276 รายการ จ.สงขลา 14 โรง จำนวน 146 รายการ จ.พัทลุง 31 โรง จำนวน 1.381 รายการ

จ.นราธิวาส 7 โรง จำนวน 339 รายการ จ.ปัตตานี 10 โรง จำนวน 112 รายการ จ.ชุมพร 8 โรง จำนวน 383 รายการ จ.นครศรีธรรมราช 161 โรง จำนวน 6,497 รายการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 8 โรง จำนวน 445 รายการ จ.กระบี่ 1 โรง จำนวน 12 รายการ และจ.ตรัง 8 โรง จำนวน 442 รายการ

โดยขณะนี้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและพิจารณาคุณสมบัติเก้าอี้พระราชทาน และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการออกแบบโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน และโต๊ะครูพระราชทาน โดยในวันนี้ได้เชิญผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนที่ประสบภัยมาดูโต๊ะเก้าอี้ตัวอย่างที่จำหน่ายตามท้องตลาด และเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดรายละเอียดครุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริงด้วย

“เบื้องต้นได้หารือว่าจะใช้ไม้ยางพาราบอร์ด ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานมาทำโต๊ะนักเรียน ขนาด 60×1.20 เซนติเมตร ส่วนขาโต๊ะจะใช้เหล็กกลมบริเวณพื้นขาโต๊ะจะเสริมพื้น เพื่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ของแต่ละโรงเรียนด้วย ที่สำคัญบริเวณหน้าโต๊ะและพนักเก้าอี้จะมีข้อความว่า “พระราชทาน” โดยใช้ตัวหนังสือสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่โต๊ะเก้าอี้ของครู ก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน มีลิ้นชัก 2 ชั้น เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้มีความชื้น

ดังนั้น เพื่อให้ชุดโต๊ะเก้าอี้ มีความแข็งแรงทนทาน ใช้งานได้นาน ส่วนขาโต๊ะที่เป็นเหล็กจะต้องชุบกันสนิม โต๊ะทุกตัวจะมีการลบเหลี่ยมให้มุมมนก่อนทาสี ต้องทากันชื้นเพื่อป้องกันเชื้อราก่อน จะทาเคลือบผิวด้วยแลกเกอร์ชนิดด้านอีก 3 ครั้ง หากมีการขูดขีดเพียงแค่ใช้กระดาษทรายขัดออกและทาแลกเกอร์ทับใหม่ได้ ตรงนี้ช่วยให้การบำรุงรักษาง่ายขึ้น และในแต่ละเดือนทาง สอศ.จะมีอาจารย์นักศึกษาจากวิทยาลัยในสังกัดลงไปดูแลและซ่อมบำรุงหากโต๊ะเก้าอี้ ชำรุดเสียหาย” นายการุณ กล่าว

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ใช้เงินพระราชทานอย่างคุ้มค่าและต้องดำเนินการส่งมอบให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน