สตม.ยัน ระบบไบโอเมตริกซ์ ใช้งานได้จริง สนามบินทั่วโลกใช้กัน จัดซื้อโปร่งใส

ระบบไบโอเมตริกซ์ / เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวในสตม. ตั้งโต๊ะแถลงปมไบโอเมตริกซ์หรือระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่เข้ามาในประเทศ หลัง ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตผบช.สตม. ออกมากล่าวหาระบบดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

พล.ต.ท.สมพงษ์ เปิดเผยว่า การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าออกประเทศนั้น แต่ละประเทศมีเครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งที่พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวอ้างว่าไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ไม่รู้ว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหนว่า ระบบไบโอเมตริกซ์ไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งที่เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นระบบมาตรฐานสากลที่สนามบินนานาชาติขนาดใหญ่นิยมใช้กันและดีที่สุด โดยมีการขับเคลื่อนระบบนี้สามารถใช้งานได้จริง

พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้จะชี้แจงทุกประเด็นข้อสงสัย และเรียกคณะกรรมการตรวจรับ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฎิบัติงานจริงมาชี้แจงให้ทราบด้วย ไม่ใช่มาพูดในเรื่องที่ไม่มีข้อเท็จจริง หรือมีนิดเดียวแล้วไปขยายความ ส่วนตัวมองไม่เป็นธรรมกับหน่วยงานที่มีมาตรฐานอย่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเป็นหน้าตาของประเทศในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสามารถจับกุมชาวต่างชาติที่กระทำผิด หรือมีประวัติที่พยายามหลบหนีเข้าประเทศไทยได้จำนวนมาก

“การนำระบบนี้มาใช้มีความคุ้มค่า ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย ซึ่งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นผู้อนุมัติโครงการ ก็เพื่อยกระดับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับนานาชาติ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มองว่าพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่ควรนำเรื่องระบบนี้ไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งส่วนตัว และไม่ควรใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือให้ตัวเองเกิดความชอบธรรม”ผบช.สตม.กล่าว

พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผบช.สตม. ในฐานะรองประธานกรรมการตรวจรับโครงการไบโอเมตริกซ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธานกรรมการตรวจรับโครงการ ขณะนั้นก็ไม่ได้มีตำแหน่งในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นคนกลางที่เข้ามา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนได้ส่วนเสียกับใครทั้งนั้น ในช่วงที่ตนมาระหว่างนั้นมีการร้องเรียนก่อนหน้านี้ โดยโครงการดังกล่าวเริ่มทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.2560 โดยมีกำหนดส่งมอบงาน 6 งวด ซึ่งขณะทำหน้าที่รองประธานกรรมการตรวจรับอยู่ในช่วงระยะที่ 3 ยอมรับมีปัญหาส่งงานล่าช้า และเมื่อมาตรวจสอบพบว่าเป็นปัญหาในเรื่องของสถานที่คือ สนามบินอุบลราชธานี ปรับปรุงตัวอาคาร ทำให้ติดตั้งไม่ได้ ไม่ใช่เกิดความผิดที่เกิดจากคู่สัญญา

“ระหว่างนั้นพบว่ามีการขอยกเลิกสัญญา จึงตรวจสอบโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานมาศึกษาเรื่องนี้ว่าสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ ผลสรุปว่าได้ติดตั้งงวดที่ 3-4 รวมทั้งทดลองใช้จริงไป โดยไม่ได้รับมอบจนถึงงวดสุดท้าย โดยแต่ละขั้นตอนมีผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่านร่วมสังเกตการณ์จากกระทรวงไอซีที เรื่องดังกล่าวได้มีการร้องไปที่สตง.ถึงการใช้งบ ทางสตง.ได้เข้ามาตรวจสอบแล้วร่วมกับคณะกรรมการของเราด้วย ระหว่างการตรวจรับงวดที่ 4 โดยผลการสรุปของสตง. รายงานมาว่าระบบนี้สามารถใช้ได้มีประสิทธิภาพ และเนื่องด้วยเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็ได้สอบถามความเห็น ข้อเสนอแนะผู้ใช้งานจริงทุกสัปดาห์ และได้ตรวจรับในวันที่ 28 มิ.ย.2562 ก่อนครบกำหนดสัญญา”พล.ต.ต.สุรพงษ์กล่าว

พล.ต.ต.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์ยิงรถแล้วมาบอกว่าปมมาจากไบโอเมตริกซ์นั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกันเลย ซึ่งตนเตรียมพร้อมจะไปชี้แจงกับป.ป.ช.อยู่แล้ว เพราะทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีเอกสารพร้อม อยากให้ความเป็นธรรม หากมองว่าพล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็นเจ้าของโครงการนี้ เป็นผู้อนุมัติโครงการนี้ ท่านอาจเป็นคู่กรณีที่อาจถูกเพ่งเล็งกลัวว่าทางป.ป.ช.จะสอบโครงการนี้จนต้องมาสร้างสถานการณ์นี้ ตนว่าไม่เป็นธรรมกับท่าน อันนี้พูดในฐานะคนกลาง เพราะยืนยันว่าโครงการนี้ตรวจมากับมือ

ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผอ.ฝ่ายพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวยืนยันว่า เป็นระบบที่มีมาตรฐานสากลและใช้งานได้จริง แต่อาจมีความล่าช้าในการเชื่อมโยงระบบไปบ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ เมื่อทุกอย่างเข้าระบบจะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถตรวจสอบชิพที่ฝังอยู่ในหนังสือเดินทางได้ บันทึกลายพิมพ์นิ้วมือได้ 10 นิ้ว รวมถึงตรวจสอบใบหน้าผู้ถือหนังสือเดินทางว่าตรงกับชิพข้อมูลรูปภาพเก่าหรือไม่ ที่สำคัญระบบนี้ยังลึกถึงขั้นคนที่ทำศัลยกรรมก็สามารถตรวจสอบได้ด้วย

พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผบก.ตม.2 ในฐานะผู้ปฎิบัติงานที่ควบคุมดูแลท่าอากาศยานนานาชาติในประเทศไทย กล่าวว่า เดิมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคนเข้าเมืองได้เพียงดูด้วยตาเปล่ากับภาพถ่าย โดยอาศัยทักษะของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ปัจจุบันระบบนี้ได้นำมาช่วยในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้การตรวจสอบบุคคลมีความแม่นยำ เพราะมีฐานข้อมูลบุคคลต้องสงสัย หรือบุคคลต้องห้าม จนสามารถคัดกรองบุคคลเข้าออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการดำเนินการโดยนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ จนถึงวันที่ 7 ม.ค. สามารถเก็บข้อมูลผู้เดินทางเข้าออกได้ 48,862,051 คน ขึ้นบัญชีเฝ้าระวังแบล็คลิสต์ 4,353 คน อยู่ในราชอาณาจักรเกินกว่ากฎหมายกำหนด 126,989 คน จับกุมด้วยระบบไบโอ 3,166 คน คิดเป็นเงินค่าปรับ 242,808,800 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน