10 ปี มติครม.คุ้มครองชาวเล ไปไม่ถึงไหน หญิงอูรักราโว้ยปาดน้ำตา ถูกอัยการส่งฟ้องคดี

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 ภายใต้ชื่องาน “10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” จัดขึ้นที่บริเวณหน้าหาดราไวย์ ม.2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

โดยตั้งแต่เช้าวันที่ 18 มีชาวเลจากพื้นที่ต่างๆ อาทิ เกาะลันตา จ.กระบี่ เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล บ้านทับตะวัน จ.พังงา เกาะเหลา จ.ระนอง ทยอยเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก ขณะที่ชาวเลชุมชนราไวย์ เจ้าของพื้นที่ได้ออกเรือหาปลาตั้งแต่เช้าเพื่อหาปลามาทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานโดยได้ปลาต่างๆจำนวนมาก

ทั้งนี้ในงานมีนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยระบุมาตรการระยะสั้นคือ 1.สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยด้วยการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนผ่านภาพถ่ายทางอากาศและด้วยวิธีอื่น

2.ให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆได้และเสนอผ่อนปรนพิเศษในอาชีพประมง 3.ช่วยเหลือด้านสาธารณะสุข 4.ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสัญชาติ 5.ส่งเสริมด้านการศึกษา 6.แก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์

7.ส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล 8.ส่งเสริมให้ชุมชนชาวเลเกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 9.จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายชาวเล อย่างไรก็ตามมติ ครม.ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้จริง

นอกจากนี้ภายในงานยังได้สรุปสถานการณ์ของชาวเลไว้อย่างน่าสนใจโดยระบุว่า ผ่านมา 10 ปี ปัญหาของชาวเลยังไม่ได้รับการแก้ไขแถมยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีชาวเลอยู่ประมาณ 12,000 คน รวม 44 ชุมชน กระจายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

มีปัญหา ดังนี้ 1.ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆที่อาศัยมายาวนาน กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภททั้งป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยาน กรมธนารักษ์ ฯลฯ เช่น ชุมชนชาวเลสะปำ ภูเก็ต ชุมชนชาวเลเกาะสุรินทร์ พังงา ชุมชนชาวเลเกาะเกาะพีพี กระบี่ เป็นต้น

2.สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ถูกรุกล้ำแนวเขต ถูกห้ามฝังศพ เช่น พื้นที่บาราย ของชาวเลราไวย์ ภูเก็ต สุสานเกาะหลีเป๊ะ สตูล เป็นต้น

3.ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารมิชอบทับชุมชน โดยเฉพาะ ชุมชนชาวเลราไวย์ ชุมชนชาวเลบ้านสิเหร่ ภูเก็ต และชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ สตูล ถูกดำเนินคดี 29 คดี มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน

4.ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าแต่เดิม ชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 27 แหล่งแต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่ง มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ จับกุมพร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น

5.พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน ผู้หญิงชาวเลใช้ หาหอย หาปู วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือก็กลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว เช่น หน้าหาดราไวย์แห่งนี้ ทางธุรกิจเอกชนพยายามปิดทางเข้าออก หาดและที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี ชาวเลถูกบีบบังคับ กดดันไม่ให้จอดเรือ

6.ปัญหาเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม ทำให้กำลังจะสูญหาย 7.ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ด้วยปัญหารอบด้านทำให้เกิดความเครียด บางส่วนติดเหล้า และชาวเลมีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆตามมา 8.ปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะ ชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ พังงา เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม ระนอง

นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนราไวย์ กล่าวว่าภายหลังมีมติครม.10 มิถุนายน 2553 คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แต่ชาวเลกลับยังถูกจับอยู่เรื่อยๆกุมเพราะออกไปหาปลาเนื่องจากบางส่วนเข้าไปในเขตอุทยานฯ และใช้เครื่องมือหาปลาในจำนวน 17 ชนิดที่เคยทำข้อตกลงไว้กับอุทยานฯที่จะผ่อนปรน

โดยอุทยานฯอ้างว่าเป็นแค่มติครม.แต่เขาต้องรักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนยังไม่เข้าใจถึงข้อตกลงดังกล่าว ขณะที่ชาวเลในหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาถูกบุกรุกสุสานฝังศพ เช่นชาวเลเกาะสิเหร่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ไม่สามารถเข้าไปฝังศพได้เพราะเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ ส่วนเรื่องบัตรประชาชนก็ได้เฉพาะกลุ่มโดยชาวมอแกนมีปัญหามากแต่ชาวอูรักลาโว้ยได้เกือบหมดแล้ว

นายนิรันดร์ กล่าวว่า ในส่วนของชาวเลราไวย์ที่เกิดปัญหากับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จนเกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันเมื่อ 3 ปีก่อน แต่เรื่องก็ยังไม่สิ้นสุดซึ่งบริษัทเอกชนฟ้องชาวบ้าน และมีการไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านรับสารภาพว่าบุกรุกแต่ชาวบ้านไม่ยอม

อย่างไรก็ตามในที่สุดบริษัทเอกชนก็ยอมถอนฟ้อง แต่ทางอัยการบอกว่าเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้เพราะเป็นอาญาแผ่นดินและอัยการเตรียมส่งฟ้องผู้หญิงชาวเล 3 คนประกอบด้วย นางวีรวรรณ หาดทรายทอง นางบุญใจ พลรบ และนางบังอร แซ่ฉั่ว จากตอนแรกที่ออกหมายจับมี 9 คน แต่รูปภาพที่ฝ่ายโจทย์นำไปอ้างนั้น เห็นหน้าชัดเจนแค่ 3 คน จากชาวเลนับพันคนที่ร่วมกันต่อสู้ปกป้องเส้นทางสาธารณะที่เดินไปสู่บาราย(พื้นที่ประกอบพิธีกรรม)

“ที่ดินบริเวณชายหาดราไวย์ที่เดินไปยังบาราย ยังเกิดข้อพิพาทอยู่โดยชาวบ้านยืนยันว่าเป็นที่ดินที่พวกเราใช้มาเนิ่นนาน แต่บริษัทเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ ขณะที่ทางฝ่ายปกครอง เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล บอกว่าเป็นที่ดินสาธารณะเนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึง แต่กรมที่ดินและบริษัทเอกชนอ้างว่าเป็นที่ดินของเขาซึ่งจรดทะเล ดังนั้นจึงยังไม่ได้ข้อยุติ”นายนิรันดร์ กล่าว

ด้าน นางวีรวรรณ หาดทรายทอง อายุ 36 ชาวอูรักลาโว้ย ซึ่งเกิดในชุมชนราไวย์ กล่าวว่า รู้สึกตกใจและแปลกใจที่ถูกฟ้องเพราะในวันเกิดเหตุเขาเอาหินมากองเป็นแนวกั้นเส้นทางจนเต็ม ซึ่งชาวบ้านยังใช้ชีวิตปกติธรรมมดา กลุ่มผู้หญิงชาวเลในชุมชนได้เดินมาดูกันเรื่อยๆ และห้ามไม่ให้เขาปิดกั้นเส้นทาง เขาจึงถ่ายภาพซึ่งมีผู้หญิงนับร้อยคนและบอกว่าจะเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับฟ้องร้อง

แต่ตนคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเพราะแค่ใช้วิชีตเหมือนปกติ เราไม่ได้ทำลายทรัพย์สินของเขา เราแค่มายืน ตอนนี้รู้สึกกับวลใจเพราะแม้เอกชนไม่เอาผิดแล้ว แต่อัยการยังยืนยันที่จะฟ้องต่อโดยระบุข้อหารุนแรงว่าบุกรุกทำลายอสังหาริมทรัพย์

“เราไม่เคยทำผิดอย่างที่เขากล่าวหา แต่กลับมีตำรวจเอาหมายจับมาที่บ้านถึง 7 คน ทำให้ตกใจมาก เราเป็นคนหน้าแปลก แต่เขาเป็นคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน แทนที่พวกเขาจะถูกฟ้องกลับกลายเป็นว่าพวกเราผู้หญิงที่ยืนดูเหตุการณ์ถูกฟ้อง

ตอนนี้ทุกข์ใจมากเพราะเราไม่รู้เรื่องกฎหมาย เราเป็นห่วงลูกหลานเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่อย่างไร เกิดฉันมาไม่เคยทำผิดกฎหมายและถูกสอนให้ทำแต่สิ่งดีๆ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้”นางวีรวรรณ กล่าวพร้อมกับปาดน้ำตา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน