หวั่นลาม! ทำแนวกันไฟป่าบน ภูกระดึง 100 กม. ปิดรับนักท่องเที่ยวเร็วขึ้น 2 เดือน ‘วราวุธ’ เผยป่าเริ่มฟื้นฟูตัวเอง รอฝนแรก ยังไม่เคาะทำกระเช้าไฟฟ้า

ภูกระดึง / เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ที่ได้รับความเสียหายกว่า 3,200 ไร่ ว่า ได้ร่วมทำแนวกันไฟป่าพื้นที่บนภูกระดึง ทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเลย และกระทรวงกลาโหม ร่วมกันทำแนวกันไฟ 100 กิโลเมตร หรือบริเวณหลังแปล 37,500 ไร่ และพื้นที่เชิงเขา-หน้าผา จนถึงด้านพื้นล่าง 750 กิโลเมตร หรือประมาณ 1 แสนไร่ ทำแนวกันไฟความกว้าง 20-50 เมตร ยกเว้นแนวทุ่งหญ้าที่จะต้องทำให้กว้าง 50 เมตรขึ้นไป แต่ต้องกำจัดเชื้อเพลิงออกให้หมดก่อน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายวราวุธ กล่าวว่า ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ไฟป่าบนภูกระดึงทุกคน รวมถึงตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่มาร่วมปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง ช่วยควบคุมระดับไฟป่า ให้สงบลง ไม่ขยายวงกว้างสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้

สาเหตุไฟป่าเกิดจากความมักง่ายของมนุษย์ จนทำให้ธรรมชาติบนภูกระดึงเสียหายร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด และจากการเดินสำรวจสภาพต้นสนที่เสียหายจากไฟป่าได้เริ่มฟื้นตัวเองโดยแตกกิ่งขึ้นมาใหม่จึงถือเป็นข่าวดี ที่สภาพป่าที่เสียหายไปสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เองร้อยละ 80

อย่างไรก็ตาม จะต้องรอฝนแรกของฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ให้พื้นที่บนภูกระดึงฟื้นตัวเอง แต่เนื่องจากขณะนี้ ภูกระดึงกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง และมีปริมาณน้ำน้อยมากทำให้ปีนี้อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ต้องปิดรับนักท่องเที่ยวเร็วกว่าปีอื่นๆ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย.ถึงเดือนก.ย.รวม 6 เดือนด้วยกัน ซึ่งจากเดิมทุกปีจะปิดระยะเวลา 4 เดือน ทั้งนี้ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูภูกระดึงระยะยาว คือให้เร่งทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า สิ่งสำคัญคือ? จะต้องเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันไฟป่าให้เพียงพอและเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ปกป้องผืนป่า ขณะที่ประชาชนเองต้องขอความร่วมมือเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยปกป้องผืนป่า จะได้เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการเผาป่าขึ้นอีก

นอกจากนี้ ตนกำชับเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทุกแห่งทั่วประเทศถึงเรื่องการใช้เครื่องปั๊มหัวใจ และฝึกการทำ CPR เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งให้กรมทรัพยากรธรณี จัดทำโครงการเพื่อเสริมความรู้การเปลี่ยนแปลงของระดับหินแต่ละชั้น ตั้งแต่ระดับพื้นล่างของภูกระดึง ไปจนถึงยอดภูกระดึง ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นการเสริมความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาขึ้นภูกระดึง

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มชาวบ้านมาขอให้สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด ตอนนี้เรียกได้ว่ามีทั้งให้สร้างและไม่สร้าง ฝ่ายละ 50 ต่อ 50

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน