สลด นกกก โดนยิงอาการหนัก ปากล่างหัก ปีกซ้ายอัมพาต

กรณี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จ.กาญจนบุรี พนกกกเพศเมีย 1 ตัว บาดเจ็บนอนอยู่บนพื้นดิน บริเวณป่าถ้ำใหญ่ ม. 5 ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ภายในเขตอุทยานฯเฉลิมรัตนโกสินทร์ พบว่าจะงอยปากล่างหัก ปีกซ้ายบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 63

ก่อนนำนกกกส่งมอบไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เพื่อประเมินอาการ ซึ่งสัตวแพทย์ได้ประเมินอาการพบว่าอาการหนักพอสมควร จึงส่งตัวนกกกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อทำการรักษาชีวิตของนกกกนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายสุชัย หรดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สำหรับนกกก เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดจำพวกนกเงือก และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้นกกกตัวดังกล่าวจะงอยปากล่างหัก สันนิษฐานว่า อาจโดนยิง หรือเป็นอุบัติเหตุ เพราะเราไม่พบหลักฐานอย่างชัดเจน ไม่พบร่องรอยกระสุน และไม่พบจะงอยปากล่างเช่นกัน

ในกรณีที่เป็นพวกล่าสัตว์เป็นมืออาชีพ ส่วนใหญ่จะล่านกกกโดยตัดไปทั้งหัว ซึ่งกรณีดังกล่าวเราคาดว่าอาจเป็นพวกที่ลักลอบเข้ามาในป่า และเมื่อเจอสัตว์ป่าก็ยิง เราไม่แน่ใจว่าจะงอยปากล่างหักตั้งแต่โดนยิง และคนยิงเก็บจะงอยปากล่างไป

จากนั้นนกกกตัวนี้อาจพยายามบินหนีและเกาะอยู่บนยอดไม้แต่สุดท้ายก็ร่วงลงมาในบริเวณที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเจอ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เจ้าหน้าที่ได้ลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น เพราะเนื่องจากช่วงโควิดทำให้คนกลับภูมิลำเนาเยอะ บางคนไม่เคยเห็นหน้าเห็นตา อาจพยายามลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ได้ ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจขันมากเป็นพิเศษแล้ว

ด้าน สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ หัวหน้าหน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวถึงความหน้าและผลการรักษานกกก ว่า ปีกซ้ายน่าจะใช้การไม่ได้ตลอดชีวิต คาดว่าบาดเจ็บที่เส้นประสาทหรือเอ็น จากการเอ็กซเรย์ไม่พบกระดูกหัก ส่วนปากล่างที่หักหายไปร่วมกับอาจารย์คณะวิศวกรรม ช่วยกันออกแบบปากเทียมด้วยโปรแกรมสามมิติ ซึ่งทดลองใส่ปากเทียมไป 3 ชิ้นแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ เพราะอวัยวะเทียมยังไม่เหมาะสมกับสรีระและพฤติกรรมการกินอาหาร ปัจจุบันสัตวแพทย์จึงให้กล้วย มะละกอ เป็นอาหาร

ขณะที่อาการล่าสุดตรวจพบว่านกกกมีแผลกดทับที่ช่วงต้นขา เกิดจากความสมดุลของร่างกายหายไปจากอาการปีกซ้ายอัมพาต ทำให้ขาทั้งสองข้างรับน้ำหนักไม่เท่ากัน เบื้องต้น สัตวแพทย์ได้เปลี่ยนกรงพักฟื้น และทำคอนไม้ให้เกาะเพื่อรักษาสมดุล ซึ่งคณะผู้รักษายังคาดหวังว่าจะสามารถรักษานกกกให้หาย และสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้

ขณะที่ น.ส.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำเเพงเเสน ร่วมกับอาจารย์คณะวิศวกรรม และสัตวแพทย์กรมอุทยานฯได้ทำปากล่างเทียมให้กับนกกกเพื่อให้กินอาหารเเละดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้ถือว่าอาการนกกกดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

แต่ก็มีการประเมินอาการนกกกอยู่ตลอด และได้เตรียมวิธีอื่นๆไว้อีกหากจะงอยปากทำงานได้ไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยการเตรียมใช้จะงอยปากล่างของซากนนกกกหรือนกเงือกที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาประกอบใส่ให้กับนกกกแทน

ทั้งนี้หากนกกกมีการดีขึ้นมากหรือหายเป็นปกติ จะนำนกกกไปดูแลภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน