ชาวเลเดือดร้อนหนักน้ำทะเลกัดเซาะ อบจ.ทุ่มงบ 2 ล้านเติมป่าชายเลนแหลมการีมโมเดล ช่วยชาวบ้านเกาะสาหร่าย แก้ปัญหาการกัดเซาะอย่างยั่งยืน หลังพบธรรมชาติถูกทำลายจนเดือดร้อน
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่บริเวณแหลมการีม หมู่ที่ 5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล อ.ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และที่ปรึกษากรมทรัยพากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมนายมเหสักข์ หิรัญตระการ ผอ.ส่วนบริหารพื้นที่ชายฝั่งและวิชาการ สนง.บริหารจัดการทรัยพากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 หรือ (สบทช.7), นายวิสิษฐ์ สุทธิสว่าง หน.สถานีพัฒนาทรัยพากรป่าชายเลนที่ 35 (เจ๊ะบิลัง-สตูล) และนายรอสี ใบกาเด็ม รองนายกองค์การบริหารส่วน จ.สตูล
ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และจุดจอดเรือ ของชาวบ้านบริเวณหัวแหลมการีม หมู่ที่ 5 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล อีกครั้งหลังก่อนหน้านี้ให้คำแนะนำชาวบ้าน และอบจ.สตูล ผู้นำท้องถิ่นที่ขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน หลังนำหินทิ้งเข้าแก้ไข และป้องกันคลื่นลมแรงให้ชาวบ้านแล้วไม่ได้ผล เนื่องจากติดปัญหาของป่าชายเลน ทำให้แนวทำหินทิ้ง ไม่สามารถทำได้ตลอดเส้นทาง 2 กิโลเมตร ตามงบประมาณที่ตั้งไป เนื่องจากชาวบ้านต้องการให้หินทิ้งขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากบ้านเรือนไปอยู่ในแนวเขตป่าชายเลน เพื่อให้นำเรือเข้ามาจอดหลบลมได้
จากปัญหาได้มีการหารือร่วมกัน โดยให้มีการนำหินทิ้งออกไปจากหมู่บ้านที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก 7 หลังคาเรือน ระยะทาง 475 เมตร จากนั้นได้มีการตั้งโครงการลดผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยวิธีปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นแทนในระยะทาง 2 กิโลเมตร เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นดินโคลนและมีหินพุ ป่าชายเลนก็จะกลับมาช่วยลดการกัดเซาะ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ โดยใช้ธรรมชาติสู้กับธรรมชาติถือเป็นโมเดลใหม่ในการแก้ปัญหาลดการกัดเซาะในพื้นที่ฝั่งอันดามันตอนล่าง
อ.ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และที่ปรึกษากรมทรัยพากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง กล่าวว่า ซึ่งปัญหาที่แท้จริงชาวบ้านต้องการที่จอดเรือมากกว่า แก้ปัญหาการกัดเซาะ เนื่องจากการทิ้งหินในพื้นที่ป่าชายเลนไม่สามารถทำได้เนื่องจากผิดกฎหมาย ทำให้มีการนำหินมากองไว้ใกล้บ้านเรือนยิ่งเพิ่มความรุนแรงของคลื่นลม
อีกทั้งพื้นที่ตรงนี้เป็นหินผุทั้งเกาะ และมีดินโคลนการใช้หินทิ้งขนาดใหญ่ ยิ่งจะทำให้หินจมและต้องมีการซ่อมแซมอยู่ตลอด อีกทั้งสภาพอดีตที่เคยสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่นี้ได้ถูกทำลายมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี ทั้งโดยธรรมชาติและมือมนุษย์ วิธีปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นหากประสบความสำเร็จเชื่อว่า จะเป็นโมเดลสำคัญในพื้นที่ฝั่งอันดามันตอนล่าง โดยการใช้ธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ ด้วยการปลูกพืชโกงกางมาเป็นเกราะในการป้องกันคลื่นลม อีกทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และข้อดีของป่าโกงกางที่มีอีกมากมายจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
ด้านนายรอสี ใบกาเด็ม รองอบจ.สตูล กล่าวว่า อบจ.สตูล พร้อมสนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาทในการบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งยังมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้ใน จ.สตูล หลายแห่ง และพบว่า บางแห่งต้องใช้วิธีทิ้งหิน และบางแห่งต้องเลือกใช้วิธีปักไม้ไผ่ปลูกโกงกางชะลอคลื่นลม ซึ่งขณะนี้เม็ดเงินพร้อมแล้ว รอเพียงขั้นตอนการเบิกจ่าย ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านการกัดเซาะชายฝั่งก็สามารถทำได้ในทันที