กะเหรี่ยง ขนข้าว 7 ตัน แลกปลาชาวเล ช่วยเหลือเกื้อกูล สู้วิกฤตโควิด-19
วันที่ 25 เม.ย. เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นำข้าวที่รวบรวมได้จากชาวบ้านบนดอยต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก 7 ตัน ขึ้นรถบรรทุกเพื่อเดินทางไปมอบให้ชาวเลในชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะถึงในวันที่ 27 เม.ย. ก่อนเคลื่อนย้ายข้าว ชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมกันทำพิธีกรรมเรียกขวัญข้าว เพื่อขอบคุณข้าวและขอเทพแห่งข้าวให้ดูแลและส่งข้าวให้ถึงพี่น้องชาวเลอย่างปลอดภัย
นายสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ “ชิ สุวิชาน” ศิลปินปกาเกอะญอ 1 ในทีมงานที่รวบรวมข้าวเพื่อนำไปแลกปลาครั้งนี้ กล่าวว่า ความเชื่อของคนกะเหรี่ยงคือข้าวมีความสำคัญกว่าเงิน และการส่งข้าวไปที่อื่นคนปกาเกอะญอเชื่อว่าแม้เม็ดข้าวส่งไปแต่ขวัญข้าวยังต้องอยู่กับเรา ซึ่งระหว่างที่ระดมข้าวนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ย้ำเตือนว่า ก่อนส่งข้าวไปควรทำพิธีเรียกขวัญข้าวก่อน
“การส่งข้าวครั้งนี้เราไม่ได้มองกันเรื่องมูลค่า แต่เป็นการส่งความดี ส่งชีวิตไป เพื่อให้ทุกคนได้กินอิ่ม ชาวบ้านที่มอบข้าวครั้งนี้ทุกคนต่างรู้สึกดีใจ เขารู้สึกว่าข้าวที่ตัวเองปลูกได้ทำหน้าที่ให้ชาวเล โดยข้าวจำนวนมากมาจากการทำไร่หมุนเวียน ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า ไร่หมุนเวียนไม่ใช่แค่ปลูกข้าวสำหรับตัวเองเท่านั้น แต่ทำเพื่อแบ่งปันด้วย การนำข้าวมารวมกันครั้งนี้เหมือนเอาข้าวสารหลายๆ เม็ดมารวมกันแล้วไปเต็มหม้อที่ชุมชนราไวย์” นายสุวิชาญ กล่าว
ด้าน นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร กล่าวว่า ขอบคุณข้าวทุกเม็ด คนทุกคนที่รวบรวมข้าวครั้งนี้ กิจกรรมนี้จะส่งถึงพี่น้องที่ตกทุกข์ได้ยากหลายพื้นที่ ข้าวจะเป็นสื่อกลางมิตรภาพระหว่างชาวเลและชาวดอย
ขณะที่ นายสนิท แซ่ซั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่จะได้กินข้าวจากภาคเหนือ โดยชาวเลได้เตรียมปลาแห้งไว้กว่า 1,000 กิโลกรัม ทั้งนี้ข้าวที่ได้มานอกจากเอามาแจกจ่ายให้ชาวบ้านราไวย์แล้ว จะนำไปแจกจ่ายให้กับชาวเลในพื้นที่อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ตามเกาะต่างๆ ซึ่งกำลังประสบความลำบาก เช่น เกาะพีพี เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะสุรินทร์ เกาะลันตา เป็นต้น
“พวกเราชาวเลต่างร่วมกันลงแรงลงขันกันหาปลา รวมๆ แล้วเราหาปลามาได้หลายตัน ปลาตัวใหญ่เราเอาเป็นปลาสดไปขาย ส่วนปลาเนื้อบางเราก็เอามาทำปลาเค็ม เรากำลังคิดกันอยู่ว่าอนาคตจะอยู่กันได้อย่างไร หากไม่ใช้เงินตรา ในอดีตบรรพบุรุษของเราก็ไม่ใช้เงิน โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปที่ไหนกะเอาปลาไปแลกผัก-ผลไม้-ข้าว” นายสนิท กล่าว
ด้าน น.ส.พรสุดา ประมงกิจ ชาวเลเกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า ชาวเลแหลมตง เกาะพีพีได้รับข้าวจากเครือข่ายชาวเลราไวย์ และมีการลำเลียงกันทางทะเลโดยขนส่งกันคนละครึ่งทาง เนื่องด้วยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของทั้ง 2 จังหวัด ที่ไม่สามารถข้ามเขตระหว่างจังหวัดได้ โดยพวกเราได้เดินทางไปรับข้าวกันกลางทะเล และเมื่อข้าวถึงเกาะพีพี ได้มีการนำไปแจกจ่ายให้ครอบครัว 38 ครอบครัวๆละ 10 กิโลกรัม
“ตอนนี้พวกเราได้ออกเรือหาปลา และนำมารวบรวมกัน ช่วยกันผ่าปลาเพื่อทำเค็ม วันนี้ฟ้าเปิด ท้องฟ้าแจ่มใสเหมาะแก่กาตากปลา โดยปลาที่แหลมตง ส่วนใหญ่ก็จะได้จากการตกเบ็ด และการลากปลา จึงได้ปลาไม่มากเท่าที่ราไวย์” น.ส.พรสุดา กล่าว
ขณะที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่าการแลกข้าวกับปลาระหว่างชาวเลกับชาวกะเหรี่ยง ว่าท่ามกลางวิกฤตต่างๆที่มนุษย์เจอเป็นผลผลิตของทุนนิยมที่บริโภคนิยมกันเกินแล้ว นอกจากทำให้ทุนนิยมโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกด้านหนึ่งได้เบียบเบียนและทำลายสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม และเมื่อมนุษย์ได้ไปสัมผัสกับสัตว์เหล่านั้น จนเกิดเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ รวมทั้งเกิดภัยพิบัติต่างๆ มากมาย ระบบของโลกยังมีการแลกเปลี่ยนอยู่ระบบเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบของการแลกเปลี่ยนที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งทุนนิยมอย่างเดียว บางคนเสนอให้ใช้เงินตราท้องถิ่น หรือเครดิตของชุมชน ซึ่งข้าวแลกปลาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของทางเลือก
นพ.โกมาตร กล่าวว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ระบบเงินตราไม่สามารถใช้ได้ เช่นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค หรือกรณีเกิดน้ำท่วมใหญ่ เราเห็นได้ว่าร้านดังๆ ซุปเปอร์เก็ตต่างๆ ปิดกันหมด เหลือแต่ร้านของคนท้องถิ่นที่ยังเปิดอยู่ และร้านเหล่านี้กลายเป็นที่พึ่งพายามยากและช่วยกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้ที่เดือดร้อน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีมิติเรื่องทุนอย่างเดียว เช่นเดียวกับการน้ำข้าวไปแลกปลา เป็นตัวอย่างของกระบวนการที่ชุมชนใช้แลกเปลี่ยนสินค้าหรือการสร้างระบบเครดิตของชุมชนขึ้น และสามารถโอนให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือชาวบ้านภาคต่างๆ ที่มีผลผลิตขยายระบบเคทดิทเหล่านี้ให้มีทางเลือก จะได้ไม่ต้องไปฝากได้กับระบบทุนนิยม
“ตอนนี้มะม่วงออกเต็ม ทุเรียนก็เยอะ ชาวสวนต้องเอามาขายราคาถูก ราคาถูกแบบนี้พวกเขาอยู่ไม่ได้ จำเป็นต้องหาทางออก เช่นเดียวการการนำข้าวไปแลกกับปลา มันไม่ใช่แค่แลกเปลี่ยนกันเฉยๆ แต่เป็นเรื่องของการการท้าทายวิธีคิด เพราะระบบเดิมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเวลาที่เอาข้าวไปแลก มันไม่ใช่แค่ข้าว แต่ข้าวที่นำไปแลกเปลี่ยนมันมีตัวตนของเราติดตัวไปด้วย คนที่ได้รับก็ไม่ใช่ได้รับแค่ข้าวหรือแค่กินแล้วอิ่ม ไม่ใช่แค่ยาไส้ แต่มันเป็นการยาใจด้วย เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามลำบาก ผมเชื่อว่าวิธีการนำข้าวไปแลกปลาแบบนี้ มันทดแทนระบบการกระจายแบบทุนนิยมได้ ผมว่าควรขยายความคิดแบบนี้ออกไปมากๆ” นพ.โกมาตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า วิธีการนำข้าวไปแลกกับปลาถูกบางคนมองว่าโรแมนติกเกินไปหรือไม่ นพ.โกมาตร กล่าวว่า ชีวิตคนเราบางทีก็ต้องมีความโรแมนติกกันบ้าง แต่การแลกเปลี่ยนไม่ใช่เป็นแค่เรื่องเล่นสนุก แบบชนชั้นกลางที่ประคองตัวเองอยู่รอดได้ แต่ในโลกของประชาชนชาติพันธุ์ เช่น ชาวเล ชาวกะเหรี่ยง พวกเขาไม่ได้มีทุนสะสม หรือมีทางเลือกอื่น การนำข้าวแลกปลาเป็นการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เช่นเดียวกับเรื่องการดับไฟป่าโดยชุมชน แม้จะเป็นเรื่องที่บางคนมองว่าโรแมนติก แต่เป็นโรแมนติกที่น่าเศร้า