ส.ส.สะท้อนปัญหา ขอรัฐเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ช่วยชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนหนัก

การขึ้นภาษีบุหรี่อัตราก้าวหน้า 40% ​สร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศจำนวนกว่า 50,000 ครอบครัว หรือกว่า 200,000 คน

ซึ่งนอกจากกำลังได้รับความเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 แล้ว ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่ทำให้ราคาบุหรี่พุ่งสูงขึ้นจากภาษีที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

​การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นปี 2563 ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงประสานเสียงในทิศทางเดียวกัน คือ ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศ กรณีเร่งด่วนที่สุดมี 2 เรื่อง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

1) ขอให้รัฐบาลเลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่อัตรา 40% ออกไปก่อน และ 2) เร่งอนุมัติงบประมาณจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรจากที่ถูกลดโควตาการปลูกใบยาสูบลงถึง 50% ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปีที่ผ่านมาว่า“การขึ้นภาษีเหล้า ยา บุหรี่ ต้องช่วยกัน ถ้าไม่เหมาะสมก็ปรับใหม่” แต่เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากรัฐบาลในการทบทวนพิจารณานโยบายภาษียาสูบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะยาวให้เกษตรกร

​นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปีเช่นกันว่า ภาษีสรรพสามิตใหม่สร้างปัญหาจริง ซึ่งผิดไปจากความตั้งใจเดิมของรัฐบาลที่ต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมยาสูบไทย

โดยข้อกำหนดใหม่ของกฎหมายฉบับนี้ บุหรี่ทั้งของไทยของต่างประเทศ ทุกซองต้องเจอภาษีเหมือนกันคือ ภาษีที่หักเข้ากองทุนผู้สูงวัยและภาษีมหาดไทย แต่เมื่อประกาศใช้กฎหมายแล้วผลปรากฏว่า

” บุหรี่ในประเทศซึ่งเคยราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง กลับเพิ่มขึ้นไปเกินกว่า 60 บาท พอเจอกับเรื่องการบริหารจัดการเข้า มันก็เลยทำให้บุหรี่ไทยเกิดปัญหา”

ขณะที่ กลุ่ม ส.ส. จากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยาสูบ ไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใด ที่ต่างก็ได้รับข้อร้องเรียนมาจากกลุ่มชาวไร่ยาสูบในพื้นที่ของตัวเองผ่านทางการพูดคุยรับฟังปัญหา จดหมายของชาวไร่ รวมทั้งชาวไร่ยาสูบในบางจังหวัด เช่น สุโขทัย และแพร่ ที่ขึ้นป้ายขนาดใหญ่ วอนให้ ส.ส. ทำหน้าที่ในสภาฯ แทนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เรียกร้องไปยังรัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งการชี้แจงต้นตอปัญหา ลักษณะความเดือดร้อนที่เกษตรกรต้องเผชิญ และการเสนอทางออก

นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวย้ำผลกระทบที่ชาวไร่ยาสูบถูกลดโควตารับซื้อใบยาสูบลงเกือบ 50% เพราะภาษีบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นสูงเกินไป การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จึงมียอดจำหน่ายบุหรี่ลดลง และไม่ต้องการเพิ่มสต๊อกใบยาสูบอีก การถูกลดโควตาทำให้รายได้จากอาชีพเกษตรกรรมที่เลี้ยงดูครอบครัวของเกษตรกรกลุ่มนี้ หายไปครึ่งหนึ่ง

“ขอให้รัฐออกมาตรการในการจ่ายเงินชดเชยในส่วนต่างที่ถูกลดโควตาลงซึ่งเกิดจากการลดภาษี นี่คือเรื่องเร่งด่วนเพราะปัญหาปากท้องเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่จำเป็น แม้จะมีคำพูดจากนายวิษณุ เครืองาม ชัดๆ ว่ารัฐบาลเตรียมงบประมาณเรื่องเงินชดเชยไว้แล้ว แต่จนถึงวันนี้ เกษตรกรยาสูบยังไม่ได้รับข้อมูลยืนยันใดๆ ในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ”

ขณะที่ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบจากการถูกลดโควตาเพราะการขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่หาก ยสท. ยังจำเป็นต้องลดโควตาการปลูกใบยาของชาวไร่อีกในปี 2563 นี้ ก็ไม่ควรลดโควตาเกินกว่า 20% และขอให้รัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยรายได้ครัวเรือนที่สูญไปให้เหมาะสม ที่สำคัญรัฐบาลควรตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศอย่างจริงจัง

โดยตนได้ทำหนังสือถึงรมว.คลัง เพื่อขอให้พิจารณาเลื่อนการขึ้นภาษียาสูบ 40% ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าออกไปก่อน

ในส่วนของส.ส.พื้นที่ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยาสูบแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ นางพรรณสิริ กุลนารถศิริ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พูดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ความทุกข์อย่างใหญ่หลวงของชาวไร่จะไม่ได้รับการบรรเทา หากภาษีสรรพสามิตจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากอัตรา 20% เป็น 40% ในเดือนตุลาคมปี 2563 รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้

ความชัดเจนเรื่องการ “เลื่อน” หรือ “ไม่เลื่อน” ขึ้นภาษีบุหรี่อัตรา 40% ที่มีกำหนดใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้ เป็นอีกประเด็นเร่งด่วนที่กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบมีความกังวลมาก เพราะหากรัฐบาลยังเดินหน้าขึ้นภาษีตามกำหนดเดิม ความเดือดร้อนซ้ำเติมแบบเดิมจะยิ่งเพิ่มขึ้น

ด้านการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้ชี้แจงผลกระทบเรื่องนี้ไว้ในรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2562 ด้วยว่า การแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2561 และ 2562 ส่งผลให้ยสท.มีกำไรสุทธิลดลงไปแล้วมากกว่าร้อยละ 90 และการดำเนินงานอาจถึงขั้นขาดทุนรวมทั้งเกิดภาวะขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจหากยังแบกรับภาระภาษีที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในเดือนตุลาคม 2563

การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น กลุ่ม ส.ส.ฝ่ายค้านก็ร่วมประสานเสียงในประเด็นความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบ และชี้ให้รัฐบาลบาลเห็นว่า นโยบายภาษีที่ดีต้องไม่ก่อความเดือดร้อนให้ประชาชน นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุตรดิตถ์ ย้ำเรื่องผลกระทบที่มีต่อชาวไร่ยาสูบจากอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ 20% และ 40% และการขอให้รัฐบาลเลื่อนขึ้นภาษี 40% ออกไปเพราะ “อัตราภาษีแบบนี้เป็นตัวทำลายอุตสากรรมยาสูบไทย ยสท.จึงต้องเจ๊งเพราะเรื่องภาษี”

ยังมีประเด็นผลกระทบจากภาษีบุหรี่อัตราสูงที่ทำให้เกิดการทะลักเข้ามาของบุหรี่เถื่อน กระทบต่อยอดขายสินค้าในร้านค้าปลีก นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.เชียงราย กล่าวว่า “นี่เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อภาษีบุหรี่ถูกกฎหมายสูงมาก ก็จะมีบุหรี่หนีภาษี บุหรี่ปลอมทะลักเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดน

นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ ยสท.มีรายได้น้อยลง เพราะขายได้น้อยลง ผมอยากเสนอให้ชะลอการขึ้นภาษีให้เป็นระดับค่อยเป็นค่อยไป จากปกติที่อยู่ที่ 20% จะเพิ่มทีเดียวเป็น 40% ผมว่ามันมากเกินไป ควรเพิ่มทีละ 5-10% จาก 20% ไปจบที่ 40% เพื่อให้ชาวไร่ยาสูบได้ปรับตัว”

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนปากเสียงประชาชนและเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ทำงานของตนเองอย่างแข็งขัน แต่ดูเหมือนว่าเสียงจาก ส.ส. เหล่านี้จะยังไปไม่ถึงรัฐบาล เพราะกระทรวงการคลังที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นเจ้ากระทรวงและยังมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยที่กำกับดูแลการยาสูบแห่งประเทศไทย ยังไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่เหล่านี้ แต่กลับจะเดินหน้าขึ้นภาษี 40% ต่อไปทั้งๆ ที่ตอนนี้ ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้เงินชดเชยให้เกษตรกรชาวไร่นั้นใช้เพียงแค่ 160 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยทอดทิ้งชาวไร่เหล่านี้ ผลลัพธ์จึงอยู่ที่ว่าฝ่ายบริหารบ้านเมืองจะรีบเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ทั้งเงินชดเชยรายได้ที่ต้องระบุจำนวนตัวเลขและกรอบระยะเวลาเบิกจ่าย รวมทั้งการขึ้นภาษีอัตรา 40% ตุลาคมนี้ ต้องชัดเจนให้เร็วที่สุดว่าจะ “เลื่อน” หรือไม่ เพราะหากไม่มีการดำเนินการใดๆ เชื่อว่าการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของพรรครัฐบาลอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน