นำร่องให้บัตรประชาชน เฒ่าไร้สัญชาติริมโขง หลังตกหล่นมา 82 ปี

วันที่ 23 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ว่าการอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย นายพร ธรรมกอง หรือลุงพร วัย 82 ปี ชาวบ้านห้วยซ้อ หมู่ 12 ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ เดินทางมาถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรก หลังได้รับการอนุมัติเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ทร.14) โดยลุงพรเป็นคนไร้สัญชาติมาทั้งชีวิต ทั้งๆที่เกิดในเดินแดนประเทศไทย แต่ได้เดินทางเข้าไปทำงานและดำเนินชีวิตในลาวตั้งแต่เด็กก่อนจะกลับมาอยู่บ้านเกิด

ทั้งนี้คณะทำงานโครงการสุขภาวะผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่พรมแดนไทย-พม่าและไทย-ลาว นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และสมาชิกกลุ่มรักษ์เชียงของ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดี

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ลุงได้รับสัญชาติไทย โดยอยู่ในกลุ่มคนคนตกหล่นทางทะเบียน ซึ่งจากข้อเท็จจริงข้อมูลความเป็นมาและคำให้การของพยานรับรองนายพร ธรรมกอง ทั้งจากการประชาคมหมู่บ้าน และจากพยานบุคคลที่รับรองว่านายพร ธรรมกอง มีพ่อเป็นชาวบ้านห้วยซ้อ ครอบครัวรู้จักกัน

โดยในช่วงที่ทางการให้ทำบัตรประชาชน นายพรได้ตกหล่นทางทะเบียน ประกอบกับพ่อแม่ได้เสียชีวิตประมาณปีพ.ศ. 2520 พี่สาวขาดการติดต่อ บ้านนายพรเคยถูกไฟไหม้ ทำให้เอกสารพ่อแม่สูญหาย ประกอบกับนายพรมีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ได้เรียนหนังสือ อยู่ตัวคนเดียวจึงไม่สามารถดำเนินการขอสถานะบุคคลได้

นายเกรียงไกร กล่าวว่า โครงการพัฒนาสุขภาวะผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่พรมแดนไทย-พม่า และพื้นที่พรมแดนไทย-ลาว ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงพื้นที่ประสานผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนบ้านห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ รวบรวมข้อมูลนายพร จนได้รับการถ่ายบัตรประชาชนในวันนี้

โดยกรณีนายพร จะเป็นแนวทางให้กับผู้เฒ่าที่ยังตกหล่นทางทะเบียนรายอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลผู้เฒ่าไร้สัญชาติในพื้นที่อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย 14 หมู่บ้านพบผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวนอย่างน้อย 840 คน ที่รอการแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติ โดยพบปัญหาของผู้เฒ่าไร้สัญชาติส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่สามารถแสวงหาพ่อแม่และญาติพี่น้องได้เนื่องจากเสียชีวิต และไม่มีเอกสารใดๆ ที่ทางราชการออกให้ และไม่สามารถดำเนินการขอพัฒนาสถานะบุคคลได้ด้วยตัวเอง

การแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ต้องมีการบูรณาการในทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่อำเภอ เจ้าหน้าที่ทะเบียนท้องถิ่น นักวิชาการกฎหมาย ที่สำคัญคือคนในชุมชน และผู้นำชุมชนที่ได้ทำการรับรองตัวตนของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เพราะการแสวงหาข้อเท็จจริงทางพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นเรื่องยากซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิต รวมถึงหลักฐานทางเอกสารที่ยืนยันตัวตนเป็นเรื่องยาก และสภาพอายุไขร่างกายที่ชราตามวัยบ้างหูหนวก ตาฝ้าฟาง เดินไม่คล่องแคล่ว ทำให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่ยากมาก การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เช่นเบี้ยผู้สูงวัย สิทธิการรักษาสุขภาพ ฯลฯ ยิ่งยาก” นายเกรียงไกร กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ การญนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ลุงพรเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ตกหล่นจากการบันทึกในทะเบียนราษฎรทั่วไปของรัฐไทยใน พ.ศ.2499 โดยลุงพรเกิดก่อนระบบการทะเบียนราษฎร (ราว พ.ศ.2481) แต่อย่างไรก็ตาม เราก็เข้าใจว่า การตกหล่นของคนที่มีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำโขงในบริเวณอำเภอเชียงของนั้น เป็นเรื่องทั่วไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไปไม่ถึง ด้วยความยกลำบากในการเดินทางที่เป็นอยู่ในช่วง พ.ศ.2499 แต่การปล่อยให้ลุงไร้รัฐโดยสิ้นเชิงมาตลอดเวลา 82 ปี ก็น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะในวัยชรานั้น มนุษย์ต้องการการดูแลอย่างมาก และสำหรับมนุษย์ที่ตกอยู่ในความไร้ญาติมิตร และความไร้ที่พึ่ง ดังลุงพร ก็จะต้องเร่งดูแล

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า ในวันนี้นายอำเภอเชียงของน่าจะเป็นคนที่เราควรชื่นชม เพราะท่านได้เก็บงานที่ตกหล่นมานาน สำหรับปัญหาความไร้เจ้าของตัวบุคคลของลุงพร ซึ่งตามข้อสันนิษฐานจากพยานบุคคลที่ทางมูลนิธิพชภ. นำมานั้น ก็คงเป็นรัฐไทยเท่านั้น ไม่มีรัฐอื่นใดมาช่วยรับผิดชอบ แต่ปัญหาของลุงพรยังมีในเรื่องความไร้ญาติมิตรและความไร้ที่พึ่ง จึงหวังว่านายอำเภอเชียงของจะใช้ พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แจ้งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เชียงราย และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเชียงราย ที่จะเข้ามาดูแลลุงพรในประเด็นความไร้ที่พึ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มต้นนับหนึ่งสำหรับเบี้ยคนชรา และปัจจัยยังชีพที่ พม. ให้แก่คนที่ไร้ที่พึ่งในสถานการณ์ของลุงพร

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของลุงพรสามารถนำไปขยายผลกรณีคนที่ประสบปัญหาสถานะบุคคลลักษณะเดียวกับลุงพรได้หรือไม่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า การขยายผลของภาคราชการจากกรณีศึกษาลุงพรนั้น น่าจะเริ่มต้นจากการที่อธิบดีกรมการปกครองน่าจะมี “หนังสือสั่งการฉบับตำรา” เพื่อเป็นคู่มือการทำงานของเหล่าสำนักทะเบียนของประเทศไทยในการจัดการปัญหาคนตกหล่นจากทะเบียนราษฎร

เมื่อถามอีกว่าหากมีคนไทยริมแม่น้ำโขงที่ข้ามไปข้ามมาเช่นเดียวกับลุงพร เกิดในไทย แต่ไปทำมาหากินในลาว กลับมาประเทศไทย จะได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกับลุงพรหรือไม่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า กฎหมายไทยในวันนี้ ตลอดจนหนังสือสั่งการก็ชัดเจนว่า การรับรองตัวตนทางกฎหมาย ตลอดจนสวัสดิการสังคม ก็น่าจะเริ่มต้นเพื่อคนดังกล่าวได้ หากจะรับรองสถานะคนสัญชาติไทยได้ ก็ควรทำ แต่ในการพิสูจน์สัญชาติไทยใช้เวลาเสมอ

ดังนั้น การทิ้งให้ลุงพรขาดไปซึ่งสวัสดิการสังคมตามกฎหมายที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์โควิด 19 นี้ ก็เป็นเรื่องที่อำเภอเชียงของจะต้องถอดบทเรียนเป็นอย่างยิ่ง และไม่ควรปล่อยให้คนไทยที่กลับจากต่างประเทศคนต่อไปขาดไร้สวัสดิการสังคม โดยเฉพาะคนที่ไร้ที่พึ่ง ดังลุงพร แห่ง อำเภอเชียงของ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน