สื่อดังญี่ปุ่นสุดทึ่ง!! “ปฏิบัติการ Quick win 90 วัน ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ของพช. เห็นกับตาชาวบ้านยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งพาตัวเอง ผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมใจฝ่าวิกฤตโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) ได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศญี่ปุ่น ลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อเยี่ยมชมการปลูกพืชผักสวนครัวของประชาชาชน ซึ่งน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ทางกรมการพัฒนาชุมชน ริเริ่มและผลักดันอย่างเข้มข้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในชุมชนปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่บริเวณหลังบ้านของตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศในสภาวะโรคโควิด-19 ระบาดและช่วงเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น โดยใช้วิธีการปลูกพืชผักสวนครัวเองเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน โดยปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงส่วนหนึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ร่วมทุนกับทางญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในครั้งนี้

ทั้งนี้ ตัวแทนสื่อมวลชนจากเว็บไซต์ชื่อดัง https://www.agrinews.co.jp ของญี่ปุ่น ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ชาวจังหวัดปทุมธานีถึงโครงการดังกล่าว ผ่าน https://www.agrinews.co.jp/p51187.html ซึ่งมีรายละเอียดว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 แม้รายได้จะลดลงอย่างมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำให้ผู้คนได้กลับมาเรียนรู้วิถีธรรมชาติดั้งเดิม

โดยการปลูกผักไว้บริโภคเอง ทำให้เห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรรมที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้ ผลผลิตยังสามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านและชุมชน ถ้าผลผลิตเหลือเยอะก็ยังสามารถขาย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเองอยู่ในประชาคมโลกและอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมีการพึ่งพาค้าขายระหว่างกัน อย่างไรก็ตามในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราได้ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง ให้อยู่ด้วยตนเองให้ได้ ตนจึงเชิญชวนพี่น้องชาวไทยปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งไปสู่การพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงด้านอาหาร

“ช่วงวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เราได้เห็นได้ชัดเลยว่า อาหารนั้นขาดแคลน การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถซื้ออาหารได้ การที่เรามีแหล่งอาหารเอง เป็นการรับประกันว่าเราจะมีอาหารไว้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงในวิกฤตนี้ และพืชผักสวนครัวที่ปลูกแล้วเหลือกินเหลือใช้ ยังสามารถแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านในชุมชนเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยพอเพียงสำหรับทุกคน ผมมีความภูมิใจอย่างมากที่มีส่วนผลักดันการรณรงค์นี้ครับ ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวญีปุ่น มาร่วมกันปลูกพืชสวนครัวกันนะครับ กิจกรรมนี้เองจะยังช่วยผลักดัน เรื่องขจัดความอดอยากหิวโหย(zero hunger)อย่างยั่งยืนได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญหนึ่ง1ใน17ข้อ ของ สหประชาชาติ (UN) ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วยครับ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำนักข่าว Nikkei Asian review สื่อชั้นนำจากญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่ง นำโดย นายโยเฮอิ มูรามัสสึ Chief Correspondent Editorial Headquarters for ASIA และทีมงาน ได้เข้าพบและสัมภาษณ์นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งเดินทางลงพื้นที่ ณ จังหวัดปทุมธานี เจาะลึกความสำเร็จปฏิบัติการ 90 วันปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สัมภาษณ์ครัวเรือนตัวอย่างที่ร่วมน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วันปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ขับเคลื่อนมาก่อนหน้าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งสอดคล้องกับการแก้ปัญหาเรื่องของอาหารการกิน และปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนของคนไทยในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่องนี้ราวกลางเดือนกรกฎาคมนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน