จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก คำโขก คำปรุง โพสต์ภาพบานประตูโบราณอายุร้อยกว่าปี ภายในวิหารวัดหมื่นล้าน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ประตูท่าแพชั้นในเมืองเชียงใหม่ ถูกบูรณะด้วยการลบทิ้งลวดลายจารึก โดยเตรียมคัดลอกลายและจะเขียนขึ้นใหม่ในแบบฉบับเดิม ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงการบูรณะในลักษณะนี้ ซึ่งทำให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์สูญหายไป

ล่าสุดวันที่ 27 ก.ค. พระลูกวัด วัดหมื่นล้าน เผยว่า หลังจากที่มีข่าวออกไป ทางผู้มีจิตศรัทธาได้เข้ามาช่วยเหลือ จะให้ช่างมาดำเนินการแก้ไขให้เหมือนเดิมทุกอย่าง อยากจะบูรณะให้ดูดีขึ้น เมื่อมีการลงมือทำไปแล้ว เป็นแบบนี้ไปแล้ว อาตมาก็ไม่รู้จะแก้ตัวอย่างไร ทางวัดไม่ปฏิเสธความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

จากนี้คงต้องมีการสอบถามช่างว่ามีวิธีให้กลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ ส่วนค่าใช้จ่าย ผู้มีจิตศรัทธาจะออกเองทั้งหมด โดยวิหารแห่งนี้เสื่อมโทรมอย่างมาก ปลวกกินทั้งหลัง ก็ต้องเปลี่ยนหลังคา อายุของวิหารแห่งนี้ สร้างในสมัยพุทธกาล 24 ต้น ๆ

ด้านชาวบ้านคนหนึ่ง เผยว่า ที่มีการให้บูรณะวิหารครั้งนี้ เพราะมีคนทำสร้อยคอทองคำน้ำหนัก 3 บาทหาย และได้มาตั้งจิตอธิษฐานอยากจะทำบุญที่วัด ต่อมาก็พบเจอสร้อย และได้มาบอกว่า ทางอดีตเจ้าอาวาสวัดได้ไปเข้าฝัน ว่ามาให้ช่วยทำประตูวิหาร ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีพระอธิการสงกรานต์ วิรชยเมธี เป็นเจ้าอาวาส

ขณะที่ นายสุรชัย จงจิตงาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อักษรธรรมล้านนาที่ประตู 100 กว่าปี ที่วิหารวัดหมื่นล้าน บอกประวัติลายที่ประตู แปลความได้ว่า พระพุทธศักราช 2460 แล จุลศักราช 1279 เดือน7 ขึ้น 15 ค่ำ วัน 4 ได้สลางหน้ามุกวิหารหนังนี้ นิพพานปจฺจโยโหตุโนนิจจํ

รูปบานประตูวิหารของวัดหมื่นล้านตามสภาพเดิม ถึงหมองตามเวลาแต่ก็ยังแข็งแรงลายอยู่ครบ ลายเส้นของแท้ร้อยกว่าปี ซึ่งช่างทาอีพ็อกซี่และสีน้ำมันทับลายเดิม และช่างไม่ได้ขูดลายเดิมทิ้ง เป็นแค่ทาสีทับ สรุปลายเดิมยังอยู่ข้างล่างใต้สีที่ทาทับใหม่

ทางกรมศิลป์มีกรรมวิธีในการล้างสีที่ทาทับและให้ลายดังกล่าวโผล่ออกมาได้ ตอนนี้ทราบมาว่าช่างได้ทาสีดำทับซ้ำไปอีก ตนคิดว่าถ้าทางวัดจะทำใหม่ ควรถอดประตูวิหารของเก่าออกเก็บไว้ และสร้างประตูวิหารใหม่มาติดตั้งแทนจะดีกว่าเอาสีทาทับลาย

ก่อนที่ทางวัดจะทำการบูรณะนั้น นักศึกษา มช.คณะวิจิตรฯ ได้ไปบอกกับเจ้าอาวาสวัด เรื่องบานประตูวิหาร เป็นของเก่าแก่ แต่ทางเจ้าอาวาส ไม่สนใจ ปล่อยให้ผู้มีจิตศรัทธาและช่าง ตกลงกันเองและลงมือทำ

ส่วน นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า เบื้องต้นทราบเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นแล้ว และในวันที่ 29 ก.ค. จะนำคณะลงพื้นที่วัดเพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า บานประตูลายรดน้ำโบราณสมัยรัชกาลที่6 ดังกล่าวนั้น ทางวัดเพียงทางสีทับลงไปเลยเท่านั้น หรือว่ามีการขัดสี

หากเพียงทาสีทับยังพอจะสามารถฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพใกล้เคียงกับก่อนที่จะมีการทาสีได้ โดยจะต้องประสนงานกับกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร ให้เข้ามาช่วยดำเนินการ

อย่างไรก็ตามต้องดูรายละเอียด จากการลงพื้นที่จริงอีกครั้งหนึ่งจึงจะสามารถประเมินได้ ทั้งนี้ วิหารดังกล่าว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้กับทางกรมศิลปากร แล้วเป็นไปได้ว่าทางวัดน่าจะดำเนินการไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน