เทคโนฯประมง/อาจินต์541(อภิวัฒน์ คำสิงห์)

 

หอยแมลงภู่นับว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง คนนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย โดยการนำไปประกอบเป็นอาหารรับประทานทั้งสดและถนอมไว้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตากแห้ง ทำเค็ม และหมักดอง เป็นต้น นับเป็นอาหารทะเลที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกชนิดหนึ่ง

 

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ นับวันยิ่งเพิ่มปริมาณความต้องการมากยิ่งขึ้น จนทำให้หอยชนิดนี้สามารถทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

 

หอยแมลงภู่ที่ซื้อขายกันอยู่ตามตลาดทั่วไปปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ได้จากแหล่งเลี้ยงในท้องที่จังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งในบริเวณชายฝั่งของอ่าวไทยและอันดามัน แม้ว่าการเลี้ยงหอยแมลงภู่ในประเทศไทยจะได้ขยายขอบเขตออกไปในพื้นที่ที่ เหมาะสมมากขึ้นก็ตาม แต่ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลทำให้ประชาชน ชาวประมงที่อาศัยอยู่ริ่มทะเลหันมาเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่เป็นอาชีพเสริมและพัฒนากลายเป็นอาชีพหลัก

 

 

ดั่งเช่น คุณมนตรี สุขใจเจริญพร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่บ้านคลองแสมขาว ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งประสบความสำเร็จกับการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ มีรายได้มากกว่าปีละ 3-4 เท่าจากต้นทุนที่ลงไป

 

คุณมนตรี เล่าให้ฟังว่า อาชีพเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นอาชีพที่ครอบครัวทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่หลังจากแต่งงานจึงแยกออกมาเช่าพื้นที่เพาะเลี้ยงเป็นของตัวเอง โดยสำนักงานประมงจังหวัดได้จัดหาพื้นที่ให้ประกอบอาชีพ

 

การเลี้ยงหอยแมลงภู่ของคุณมนตรี ได้พัฒนาวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิมที่ชาวบ้านเลี้ยงสืบต่อกันมานาน มาเป็นการเลี้ยงแบบปักหลัก ซึ่งจะต้องคำนึงถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงและอีกหลายๆปัจจัย

 

 

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของหอยแมลงภู่ คุณมนตรีบอกว่า ขึ้นอยู่กับ อาหารของหอยแมลงภู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์และพืชขนาดเล็กที่เรียกว่า “แพลงก์ตอน” ที่ลอยปะปนอยู่ในน้ำทะเล

 

ความขุ่นของน้ำ ถ้าน้ำขุ่นมากตะกอนจะไปเกาะตามซี่เหงือกของหอย ทำให้ระบบหายใจและการกรองอาหารทำงานไม่ปกติ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้แพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของหอยแมลงภู่มีน้อยลง เนื่องจากไปบังแสงแดดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสังเคราะห์แสง

 

ภาวะน้ำจืดไหลลงในทะเล เป็นผลให้น้ำทะเลมีความเค็มต่ำเป็นครั้งคราว ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่มีอยู่ลดลง ทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และถ้าหอยแมลงภู่อยู่ในน้ำที่มีความเค็มต่ำนานไปจะทำให้หอยชะงักการเจริญเติบโต อัตราการตายเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลให้ได้ผลผลิตน้อยลง

 

ภาวะน้ำเสีย ภาวะน้ำเสียที่ผู้เลี้ยงหอยประสบมักเป็นน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยสารพิษและโลหะหนักต่าง ๆ ถ้าแหล่งเลี้ยงหอยอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หอยแมลงภู่จะได้รับสารพิษและโลหะหนักต่าง ๆ เหล่านี้ และทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้

 

ความเค็มของน้ำ หอยแมลงภู่จะเจริญเติบโตได้ในแหล่งน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ความเค็มที่เหมาะสมในการเลี้ยงหอยแมลงภู่จะอยู่ในช่วง 25-33 ส่วนในพัน (ppt) ถ้าน้ำมีความเค็มสูงหรือต่ำกว่านี้จะเป็นผลให้อัตราการกรองอาหารของหอยแมลงภู่ช้าลง

 

ระยะเวลาที่หอยอยู่ในน้ำ หอยที่อยู่ในน้ำตลอดเวลาจะโตได้ดีกว่าหอยที่อยู่ในน้ำบางช่วงเวลา เนื่องจากหอยที่อยู่ในน้ำตลอดเวลาจะได้รับอาหารตลอดเวลา

กระแสน้ำและคลื่นลม หอยแมลงภู่เป็นหอยที่เกาะอยู่กับที่ ดังนั้น ต้องอาศัยกระแสน้ำที่ไหลเวียนอย่างช้าและสม่ำเสมอพัดพาอาหารธรรมชาติมาให้

อุณหภูมิของน้ำ บริเวณเลี้ยงหอยแมลงภู่ของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่เป็นอ่าวและชายฝั่งทะเล ซึ่งมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส แต่ในบางแหล่งที่เลี้ยงในเขตน้ำตื้น อุณหภูมิของน้ำจะสูงมากในช่วงเวลาเที่ยงถึงบ่าย โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำสุด จะเป็นผลให้หอยแมลงภู่ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงเป็นระยะเวลานานได้ จึงทำให้หอยมีอัตราการตายสูง

พื้นที่สำหรับการยึดเกาะ เมื่อหอยแมลงภู่มีขนาดโตขึ้นก็มีความต้องการพื้นที่ยึดเกาะเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าหากหอยแมลงภู่มีปริมาณความหนาแน่นมาก หอยที่ตัวโตกว่าแข็งแรงกว่าจะเบียดหอยที่อ่อนแอกว่าร่วงหล่นไป นอกจากนี้ถ้าปริมาณหอยแมลงภู่ที่เกาะมีความหนาแน่นมาก จะทำให้การเจริญเติบโตช้ากว่าในพื้นที่ที่มีปริมาณความหนาแน่นของหอยแมลงภู่ที่เหมาะสม

ศัตรูของหอยแมลงภู่ ศัตรูของหอยแมลงภู่ในธรรมชาติได้แก่ ปลา โดยเฉพาะพวกที่มีฟันแหลม เช่น ปลากระเบน นอกจากนี้ยังมีสัตว์กลุ่มอื่น ๆ เช่น ดาวทะเล เม่นทะเล ปูใบ้ ส่วนสัตว์ที่แย่งที่อยู่ของหอยแมลงภู่ได้แก่ เพรียงหิน ฟองน้ำ

เลี้ยงแบบปักหลัก ต้นทุนน้อย กำไรดี

การเลี้ยงด้วยวิธีนี้เหมาะสมที่จะดำเนินการในพื้นที่ย่านน้ำตื้น ซึ่งมีความลึกประมาณ 4-5 เมตร ตามบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นอ่าวทั่วไป พื้นทะเลตั้งแต่เส้นขอบฝั่งออกไปไม่ลาดชันเกินไป สภาพดินเป็นโคลน และโคลนปนทราย ระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุดไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นแหล่งน้ำที่มีแพลงก์ตอนอาหารตามธรรมชาติของหอยเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ หากมีเกาะแก่งกระจายกันอยู่และบางบริเวณมีภูเขาที่ตั้งอยู่ชายน้ำจะช่วยเป็นเครื่องกำบังคลื่นลมและกระแสน้ำได้ดี

“แหล่งเพาะเลี้ยงหรือทำเลที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบอาชีพ ควรเลือกแหล่งน้ำที่มีพันธุ์หอยแมลงภู่เกิดชุกชุมตามธรรมชาติ อีกทั้งต้องเป็นแหล่งน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มและคงสภาพความเค็มอยู่เป็นเวลานานประมาณ 7 – 9 เดือนในรอบปี ปลอดภัยจากกระแสน้ำคลื่นลมแรง อยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจถ่ายเทน้ำเสียอันเป็นพิษเป็นภัยต่อสัตว์น้ำ และที่สำคัญควรอยู่ใกล้ตลาด การคมนาคมสะดวก และห่างไกลจากแหล่งมิจฉาชีพ”

สำหรับวิธีการเลี้ยง คุณมนตรีบอกว่า มีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันจะเป็นการเลี้ยงแบบปักหลัก ซึ่งวิธีนี้จะใช้ไม้ไผ่สดความยาว 2-2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำประมาณ 3-4 นิ้ว ไปปักเป็นแถวๆทิ้งไว้ในทะเล โดยแต่ละแถวจะห่างกันประมาณ 1 ศอก ปักทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน จะสังเกตุเห็นลูกหอยเข้ามาเกาะกับไม้ ซึ่งหลังจากลูกหอยเข้ามาเกาะไม้เป็นที่เรียบร้อย คุณมนตรีบอกว่า แทบจะไม่ต้องทำอะไรแล้ว เนื่องจากอาหารก็ไม่ต้องให้ หอยจะหากินเองตามธรรมชาติ จะมีก็แต่คอยมาดูว่าหลักที่ปักชำรุดหรือไม ในช่วงที่มีพายุเข้า

หลังจากเลี้ยงครบ 7-8 เดือน หอยโตได้ขนาด คือประมาณ 15-20 ตัวต่อกิโลกรัมจะทำการกู้หอยขึ้นมาส่งขายให้กับโรงต้มในราคาที่ตกลงกันเฉลี่ยประมาณ 40-45 บาท จึงไม่มีปัญหาหอยล้นตลาด นับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง รายได้ดีพอสมควร

“การเลี้ยงหอยแมลงภู่จึงเป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนต่ำและสามารถใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัวเพื่อการนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าแรงงานมากนักสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนการเลี้ยงหอยแมลงภู่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีลู่ทางที่ดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จด้วยดีได้เช่นกัน”คุณมนตรีกล่าว

วันนี้ บ้านคลองแสมขาว ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้เลี้ยงมากถึง 200 ราย จนสามารถจัดตั้งเป็นขึ้น โดยใช้ชื่อว่ากลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ มีสามาชิกเข้าร่วมกลุ่ม 55 คน

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บ้านเลขที่ 17/3 หมู่3 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 086-0556321 (คุณมนตรี สุขใจเจริญพร)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน