ปภ.ประสาน 6 จังหวัดพื้นที่ท้ายน้ำบริเวณลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลตอนล่างที่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี เฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนริมลำน้ำและพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลลงมาสมทบ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำระดับน้ำเริ่มลดลง ในขณะที่จังหวัดพื้นที่กลางน้ำ ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และจังหวัดในพื้นที่ปลายน้ำเริ่มเกิดสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากปริมาณน้ำไหลลงมาสมทบ จึงต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล รวมถึงภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนริมลำน้ำและพื้นที่การเกษตร แยกเป็น ลุ่มน้ำชีตอนล่าง 3 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร่องคำ อำเภอกมลาไสย และอำเภอ ฆ้องชัย ร้อยเอ็ด ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจังหาร และอำเภอทุ่งเขาหลวง ยโสธร ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอมหาชนะชัย อำเภอค้อวัง และอำเภอคำเขื่อนแก้ว

ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านกู่ และอำเภอสุวรรณภูมิ สุรินทร์ ในพื้นที่อำเภอท่าตูม บุรีรัมย์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคูเมือง อำเภอกัณทรารมย์ และอำเภอสตึก และอุบลราชธานี ในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขื่องใน อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอตาลสุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอดอนมดแดง อำเภอตระการพืชผล และอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ทำให้ระดับน้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัวและเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงพื้นที่ประสบอุทกภัยขยายวงกว้างมากขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 6 จังหวัดลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมปฏิบัติการและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

รวมถึงประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ลำน้ำสายหลัก พร้อมเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด ทั้งนี้ ปภ. ได้กำชับให้บูรณาการการใช้และหมุนเวียนทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงรองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมสถานการณ์ภัยมิให้ขยายวงกว้าง เพิ่มมากขึ้นและให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งผลกระทบต่อผู้ประสบภัยน้อยที่สุด

สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ได้ประสานให้เร่งสำรวจ ประเมินและจัดทำบัญชีความเสียหายครอบคลุมทุกด้านตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าถึงระดับครัวเรือนและครอบคลุมทุกมิติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน