ชาวเน็ตออกมาเรียกร้องให้ทางร้านปิ้งย่างชื่อดังรับผิดชอบ เนื่องจากมีนักศึกษาฝึกงานโดนไล่ออกเพราะแสดงความคิดเห็นเรื่องการคุกคามทางเพศ

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งออกมาโพสต์เรื่องราวเพื่อนของตนโดนให้ออกจากงาน เพราะไปแสดงความเห็นต่อข้อความที่ผู้จัดการส่งมาในกลุ่มแชทว่าไม่เหมาะสม จากนั้นเพื่อนได้ถูกลบออกจากกลุ่มแชทและถูกให้ออกจากงาน

เรื่องราวเริ่มจากกลุ่มแชทที่มีผู้จัดการและพนักงานของสาขา ผู้จัดการได้ทำส่งข้อความการล้อเลียนเรื่องม็อบว่า ใครจะอยู่ฝ่ายไหนตนไม่รู้แต่ตนจะอยู่ฝ่ายนักเรียนนักศึกษา และได้ส่งภาพหญิงสาวที่แต่งกายด้วยชุดนักเรียน ปลดกระดุมเสื้อจนเผยให้เห็นหน้าอกในกลุ่ม

ซึ่งเพื่อนของตนเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงแสดงความเห็นว่า ในฐานะที่เป็นผู้หญิงรู้สึกว่าไม่โอเคที่ผู้จัดการส่งรูปแนวนี้เข้ามาในกลุ่มงานและมองว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ทำให้ผู้จัดการไม่พอใจและได้ทำการลบเพื่อนออกจากกลุ่มแชททันที

เพื่อนของตนจึงทักข้อความส่วนตัวไปหาผู้จัดการเพื่อปรับความเข้าใจ ผู้จัดการแก้ตัวว่าที่ลบออกจากกลุ่มเพราะกดผิด ส่วนเรื่องที่ไล่ออกนั้นเพราะเพื่อนขอลา โดยอ้างว่าไม่ว่าพนักงานคนไหนขอพักจะให้ออกให้หมด ไม่เกี่ยวกับการที่เตือนเรื่องภาพคุกคามทางเพศ

นอกจากนี้ยังเล่าว่ามีหลายครั้งที่ผู้จัดการคนนี้ทำตัวไม่เหมาะสม ทั้งการไม่ให้ลาป่วย ให้มาทำงานทั้งที่เจ็บหนัก ส่วนพนักงานชายที่ร้านปิ้งย่างยังชอบพูดล้อเลียนแนวคุกคามทางเพศอีกด้วย ล่าสุดทางร้านปิ้งย่างดังกล่าวได้ตอบกลับว่า ทางบริษัทรับรู้เรื่องแล้วและจะมีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว หากพนักงานมีความผิดจริงจะทำการลงโทษตามกฎของบริษัท

ชาวเน็ตบางส่วนยังเสนอให้ฟ้องกระทรวงแรงงาน หรือศาลแรงงานเพื่อเอาผิด และพากันแห่ไปคอมเม้นท์ใต้โพตส์ในเพจเฟซบุ๊ก จี้ให้ทางบริษัทเร่งเอาผิดผู้จัดการโดยเร็ว รวมไปถึงระมัดระวังเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอีกด้วย

 

การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน หากเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศสามารถร้องทุกข์ภายในหน่วยงานได้ เช่น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับของผู้กระทำ หรือฝ่ายการเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย หรือร้องทุกข์ได้ที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปคพ. สค.) เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

การไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ทำงาน ลูกจ้างสามารถเรียกร้องสิทธิเนื่องมาจากการฝ่าฝืนกฎหมายของนายจ้างได้ดังนี้

-ศาลแรงงาน ลูกจ้างสามารถนำคดีไปฟ้องได้ โดยศาลมีจะพิจารณาคดีเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้งกรณีละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เบอร์ 02-235-1500 หรือเว็บไซต์ ศาลแรงงานกลาง

-กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องทุกข์ได้ที่นี้ เบอร์ 02-245-4310 หรือเว็บไซต์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

-สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 1546

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน