เทศบาลเมืองกระนวน สั่งกำจัดหมูกว่า 50 ตัว หลังพบติดเชื้อ PRRS พร้อมสั่งปิดโรงฆ่าสัตว์ชั่วคราว ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ รอผลตรวจในห้องทดลอง

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 2 ก.พ.64 นายทวีวงษ์ พันธุระ ปลัดเทศบาลเมืองกระนวน จ.ขอนแก่น ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองกระนวน เผยถึงการพบเชื้อ PRRS ระบาดในหมูในพื้นที่บ้านชัยรุ่งเรืองหมู่ 11 ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โดยกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับการประสานจากปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทางอำเภอกระนวนได้มีการระบาดในหมู โดยปศุสัตว์ได้แจ้งและเข้าตรวจในพื้นที่ หนึ่งรายได้มีการติดตามเชื้อระบาด หลังจากที่เข้าไปตรวจพบว่ามีหมูติดเชื้อทั้งหมด 14 ตัว ตรวจสอบที่มาได้ 4 ตัว อีก 10 ตัวหาแหล่งที่มาไม่ได้

ผลการตรวจพบว่าติดเชื้อ PRRS โดยปศุสัตว์อำเภอได้นำไปทำลายในวันอาทิตย์ช่วงเวลากลางคืน หลังจากที่พบเชื้อในหมูทั้ง 14 ตัว ที่อยู่ในแหล่งแพร่เชื้อ จึงได้มีการเก็บผลเลือดหมูที่จะเข้าโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลเมืองกระนวนจำนวน 33 ตัว จากการตรวจสอบไม่พบ แต่ทางปศุสัตว์อำเภอได้สั่งให้ฆ่าหมูทั้ง 33 ตัวอย่างโดยเร็ว โดยทางเทศบาลเมืองกระนวนได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันอาทิตย์เช่นกัน

จากนั้นทางกองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองกระนวน ได้เข้าทำความสะอาดภายในโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลเมืองกระนวน พร้อมทั้งขยายบ่อดักฆ่าเชื้อก่อนที่จะเข้าภายในโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้กว้างและสามารถฉีดพ่นน้ำยาได้ครอบคลุม ซึ่งผลการตรวจเชื้อของหมูที่ปศุสัตว์จังหวัดนำไปตรวจในห้องทดลอง จะทราบผลภายในวันพุธนี้ พร้อมกับปิดโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลชั่วคราว

สำหรับโรคพีอาร์อาร์เอส หรือ Porcine reproductive and respiratory syndrome เป็นกลุ่มอาการของโรค ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร ทําให้แม่สุกรแท้ง ลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการผสมติดต่ำ ลูกสุกรแคระแกร็น โตช้า ติดโรคอื่นๆ แทรกซ้อนได้ง่าย จึงเป็นโรคที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

สาเหตุของโรค PRRS เกิดจากการติดเชื้อไวรัส PRRS virus ในตระกูล Arteriviridae เชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส แบ่งได้เป็นสองสายพันธุ์คือ สายพันธุ์ยุโรป และสายพันธุ์อเมริกา ในประเทศไทยพบการติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์

อาการของ PRRS ในสุกร เชื้อไวรัสจะถูกขับออกจากร่างกายของสุกรป่วยทางอุจจาระ ปัสสาวะ ลมหายใจ และน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อหรือแพร่ไปยังสุกรตัวอื่นๆ ได้โดยการกินหรือการสัมผัสโดยตรง เช่น การดม การเลีย หรือการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่าน อากาศที่หายใจหรือผ่านทางวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในฟาร์มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม และสุขภาพของสุกรในฝูง กลุ่มสุกรแม่พันธุ์ มักจะมีอาการมีไข้เบื่ออาหาร

ทําให้เกิดอาการแท้งโดยเฉพาะในระยะท้ายของการตั้ง ท้องหรือลูกตายแรกคลอดสูง อัตราการผสมติดต่ำ กลุ่มสุกรพ่อพันธุ์ จะทำให้คุณภาพน้ำเชื้อลดลง อัตราการผสมติดต่ำ กลุ่มสุกรดูดนม สุกรอนุบาล และสุกรขุน มักจะก่อให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โต ช้า และทําให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ง่าย ความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น สุกรที่มีอายุมากกว่า 1 เดือนจะแสดงอาการไม่เด่นชัดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน