พบอวนถล่ม ทับปะการัง เกาะโลซิน จ.ปัตตานี รมว.ทส. สั่งการกรมทะเลเข้าดำเนินการ ย้ำดำเนินคดีถึงที่สุด ด้านรองคณบดี คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ รับแก้ไม่ตก

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก IMAN Camera ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังที่เกาะโลซิน จ.ปัตตานี และโพสต์ข้อความระบุว่า “โลซิน ณ ปัจจุบันหลังจากเริ่มเปิดฤดูกาล สภาพตอนนี้ก็เป็นอย่างที่เห็นครับ มีอวนขนาดใหญ่ติดอยู่บริเวณทางด้านตะวันตกของเกาะ วันที่พบเจอคือ 11-13 มิ.ย. 2564 ฝากด้วยนะครับ”

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาตอบว่า เสียใจและเสียดายที่คนทิ้งไม่มีสำนึกครับ ผมได้ขอให้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งดำเนินการเอาออกแล้วครับ ใครพบเห็นการกระทำผิดเช่นนี้ขอให้แจ้งมานะครับ ผมจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด วันใดที่ทะเลไทยไม่เหลืออะไรแล้วคนพวกนี้ถึงจะรู้สำนึกได้ว่าได้ทุบหม้อข้าวตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะนักดำน้ำออกไปสำรวจเกาะโลซิน พบกับอวนขนาดใหญ่ครอบแนวปะการัง เกาะโลซิน จ.ปัตตานี เป็นเกาะไกลฝั่งสุดของอ่าวไทย

มีเพียงหินโผล่พ้นน้ำเล็กนิดเดียว แต่ใต้น้ำเป็นแนวปะการังกว้างใหญ่ เป็นที่อยู่ของปลาหลายชนิดที่ไม่พบในที่อื่นของอ่าวไทย ยังเป็นที่อยู่ของปลานกแก้วหัวโหนก ปลานกแก้วพันธุ์ใหญ่ที่สุดและหายากมากในทะเลไทย ไม่ต้องพูดถึงฉลามวาฬ แมนต้า กระเบนนก ที่แวะเวียนมาประจำ

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์อวนถล่มเป็นระยะ รวมถึงร่องรอยระเบิดปลา จากแรงผลักดันของทุกฝ่าย ทำให้เกาะโลซินถูกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ปัญหาโลซินยังไม่หมด ภาพอวนที่นักดำน้ำพบในวันที่ 11-13 มิ.ย. คงเป็นหลักฐานได้ดี

ต่อจากนี้ มี 3 ประเด็นหลัก อย่างแรก คือรีบเอาอวนออกให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยปะการัง และปลาจะไม่ติดมากไปกว่านี้ อย่างที่ 2 คือการตามหาผู้กระทำผิด ดูจากสภาพปะการังที่เสียหาย คาดว่าเพิ่งเกิดในไม่กี่เดือน หลังจากหลุดไอยูยู ประเทศไทยมีระบบวีเอ็มเอสติดตามเรือประมง และยังมีระบบอื่น ๆ การตรวจสอบย้อนหลังได้

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างที่ 3 คือคิดวิธีการดำเนินการต่อจากนี้ ตั้งแต่สมัยนำเสนอพื้นที่คุ้มครอง โลซินอยู่ไกลฝั่งสุดบนเกาะคนอยู่ไม่ได้ ต้องนำเรือไปลอยลำเฝ้าตลอดซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่เมื่อ โควิด-19 มา เศรษฐกิจชะงัก งบประมาณถูกตัด ทำให้ความหวังริบหรี่ จึงอยากเน้นย้ำอีกครั้ง เพราะทะเลสำคัญมากในยุคนี้ เราจำเป็นต้องดูแลทะเลให้มากกว่านี้

“ภาพอวนถล่มโลซิน คงไม่ส่งผลดีกับจุดยืนของประเทศไทยอย่างแน่นอน ยังรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Tourism) ที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ผมเชื่อมั่นว่าเราพอจะดูแลพื้นที่และเกาะชายฝั่งเราได้บ้าง แต่พื้นที่ห่างฝั่งเป็นปัญหามาตลอด การแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ พิสูจน์แล้วว่า มันก็เกิดเหตุการณ์แบบเดิมๆ ทุกปี มันจึงถึงเวลาที่เราควรต้องหาทางฝ่าวังวนนี้ออกไป” ผศ.ดร.ธรณ์ ย้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน