‘ทส.’เดินหน้าชง แก่งกระจาน ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ลุ้น 16 ก.ค.นี้ พร้อมเทหมดหน้าตัก โวมี 8 ประเทศหนุน ชี้ที่ผ่านมา แก้ปัญหาบางกลอยต่อเนื่อง!

วันที่ 2 ก.ค.64 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงถึงความคืบหน้าการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่จะมีขึ้นในการประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.นี้ ว่า สำหรับแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รัฐบาลได้เน้นแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกันและเป็นขั้นตอน

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2562 เพื่อรวบรวมปัญหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกมิติ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและศึกษารวบรวมข้อมูลประวัติความเป็นมา การตั้งถิ่นฐานชุมชนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย

2. คณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้ง การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย 3.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านคดีความ และให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย

4.คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า ต้นน้ำ และการบริการทางนิเวศ กรณีชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่อาศัยและทำกิน รวมทั้งดำเนินวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่บ้านบางกลอยบน และ 5.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อาศัย ที่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย

โดยทั้ง 5 คณะมีการประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก้ปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง และมีหน่วยงานของรัฐมากกว่า 20 หน่วยงาน ได้เข้าไปดำเนินโครงการต่างในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ส่งเสริมอายุ สุขอนามัย รวมถึงวิธีชีวิตดั้งเดิมของชาวกระเหรี่ยง รวมทั้งได้แก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบางกลอย นอกจากนั้นยังได้เชิญตัวแทนชาวบางกลอยเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครอง (PAC) และในอนาคตจะมีผู้แทนจากชุมชนบางกลอยเข้ามาเป็นคณะกรรมการเพิ่มด้วย

นอกจากนี้กรมอุทยานฯ กำลังจะทำกฎหมายลูกต่างๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ได้ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 โดยเตรียมนำกฎหมายลูกเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ทำหนังสือถึงสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (ไอยูซีเอ็น) เพื่อให้เข้ามาติดตามตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของชุมชนกระเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกทำหนังสือเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2562 ฉบับที่ 2 วันที่ 25 ธ.ค.2562 และฉบับที่ 3 วันที่ 15 ธ.ค. 2563

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไอยูซีเอ็นจึงระบุว่าไม่สามารถเดินทางเข้ามาติดตามการทำงานได้ แต่ที่ตนสงสัยคือท่าทีของไอยูซีเอ็นกลับไปนำเสนอบทความว่าประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการให้ไอยูซีเอ็นเข้ามาติดตามการทำงาน ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง ตนไม่เข้าใจว่าทำไมไอยูซีเอ็นจึงมีท่าทีกับประเทศไทยแบบนี้ และทราบว่าหลายประเทศก็เคยเจอกรณีแบบนี้เช่นกัน ตนลงนามในหนังสือทั้ง 3 ฉบับด้วยตนเองและประเทศสมาชิกรับรู้หมด แต่ไอยูซีเอ็นกลับไปออกบทความสวนทางกับข้อเท็จจริงว่าไทยไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงไม่เข้าใจเจตนาของไอยูซีเอ็น

ผมไม่ได้ต้องการให้ร้ายหรือรบกับใคร แต่ขอให้ไอยูซีเอ็นพูดความจริงและทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ อย่าทำเกินหน้าที่ ไอยูซีเอ็นมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและอย่าชี้นำ ขอย้ำว่าประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชนของชุมชนกระเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่อุทยานฯ มาโดยตลอด

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 43 ในปี 2562 ขอให้ไทยดำเนินการใน 3 ข้อ คือ 1.ข้อเรียกร้องของชุมชนกระเหรี่ยง 2.การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และ3.การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่มรดกโลก ซึ่งที่ผ่านมายืนยันว่าไทยดำเนินการตามข้อเรียกร้องครบถ้วนทั้งหมด” นายวราวุธ กล่าวและว่า

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.นี้ ประเทศไทยมีเรื่องกลุ่มป่าแก่งกระจานเรื่องเดียวที่ขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งตนมั่นใจและเทหมดหน้าตัก เวลานี้มีอย่างน้อย 7-8 ประเทศ ที่ให้การสนับสนุนเรา

ด้าน ดร.รุ่ง พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า นับจากปี 2539 จนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปี หลังการเคลื่อนย้ายของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง ปัจจุบันป่าบริเวณใจแผ่นดิน ได้กลับฟื้นคืนสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติดังเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พบร่องรอยหลักฐานชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก กรมอุทยานฯ จึงจำเป็นต้องสงวนและคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวไว้ อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในอุทยานแห่งชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลาย ประกอบกับพื้นที่รองรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จัดสรรโดยรัฐบาลบริเวณบ้านโป่งลึก – บางกลอย(ล่าง) มีความเหาะสมในการอยู่อาศัยและทำกิน โดยกรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพตามสมควร สำหรับชาวบ้านทุกวัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน