ผู้ค้าตลาดชายแดนสุรินทร์ โวยไม่ให้นำอาคารตลาดสดโอท็อป กักตัวกลุ่มเสี่ยง หวั่นระบาด ก่อนจนท.ยอมเปลี่ยนแผนใช้บ้านพักเจ้าหน้าที่ชลประทาน

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 ที่ลานหน้าตลาดสดโอท็อป อบจ.สุรินทร์ ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายภายในตลาดสดโอท็อป อบจ.สุรินทร์ รวมตัวกันกว่า 60 คน ประท้วงไม่ให้มีการใช้อาคารของตลาดสดโอท็อป อบจ.สุรินทร์ เป็นสถานที่กักตัวประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มาจากพื้นที่สีแดง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะเป็นแหล่งชุมชน และมีตลาดสินค้าหลายแห่ง รวมทั้งตลาดการค้าชายแดนช่องจอมก็อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งจะมีประชาเดินทางมาซื้อสินค้าในตลาดจำนวนมาก

นางแก่นจันทร์ นนธิจันทร์ ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำ ต.ด่าน พยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าถึงเหตุผลในเบื้องต้น ตามคำสั่งของจังหวัดสุรินทร์ ที่ให้แต่ละตำบลจัดหาสถานที่กักตัวไว้รองรับประชาชนที่กลับจากพื้นที่สีแดง โดยในที่ประชุมคณะกรรมการ ต.ด่าน อ.กาบเชิง ได้เลือกไว้ 2 แห่ง คือ 1.ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่ชลประทานสุรินทร์ อ่างเก็บน้ำห้วยเชิง ต.ตาตุม อ.สังขะ และ 2.ที่ตลาดสดโอท็อป อบจ.สุรินทร์ แห่งนี้ ก่อนตัดสินใจเลือกที่ตลาดสดโอท็อป อบจ.สุรินทร์

เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายและชี้แจงถึงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด แต่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ยอมโดยเด็ดขาด และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้สถานที่อื่นที่ห่างไกลจากชุมชนละหมู่บ้านมากกว่านี้

ขณะที่ พ.ต.ท.เอกชลิต คำหริ่ง รอง ผกก.ป.สภ.กาบเชิง ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กาบเชิง มาคอยดูแลความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวก พร้อมกับช่วยเจรจาปรับความเข้าใจถึงเหตุผลข้อเท็จจริงให้กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทราบ

จากนั้น นายชนะศักดิ์ หงส์ทอง ปลัด อบต.ด่าน ปฏิบัติราชการแทนนายก อบต.ด่าน ได้ลงพื้นที่มาชี้แจงทำความเข้าใจ โดยระบุว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการของตำบลด่าน ได้เลือกบ้านพักเจ้าหน้าที่ชลประทานสุรินทร์ ที่อ่างเก็บน้ำห้วยเชิง ต.ตาตุม อ.สังขะ ในการเป็นพื้นที่กักตัวแทนตลาดสดโอท็อปแล้ว

บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจึงพอใจพากันปรบมือและสลายการรวมตัวกันไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมกับชาวบ้านจิตอาสา จึงพากันเดินทางไปทำความสะอาดบ้านพักเจ้าหน้าที่ชลประทานสุรินทร์ที่ไม่ได้ใช้การมานาน เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับการกักตัวต่อไป

นายชนะศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านที่มาแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เพื่อผลประโยชน์ของทุกคน เนื่องจากมีคำสั่งจากรัฐมนตรี และคำสั่งจากจังหวัดสุรินทร์ ระบุให้คนที่จะเข้าพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จะต้องแจ้งรายงานตัวกับ อสม.หรือสาธารณสุข ล่วงหน้า 2 วัน ซึ่งคนที่เข้าพื้นที่มา ขณะนี้พบว่า ต.ด่าน ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 คน ให้ไปรักษาตัวที่ รพ. และมีญาติพี่น้องเดินทางมาร่วมกัน ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่จะต้องกักตัว 14 วัน เพราะมาจากพื้นที่สีแดง

นายชนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า คนที่มาจากพื้นที่สีแดงไม่ได้หมายความว่าจะติดเชื้อทุกคน ซึ่งพบว่ามีกลับมาเกือบทุกหมู่บ้านของ ต.ด่าน หมู่บ้านละ 2-3 คน มากที่สุดคือบ้านเกษตรถาวร 5 คนที่กลับมา ซึ่งการกักตัวรอดูอาการ หมอจะเข้ามาตรวจทุกวันจนครบ 14 วัน ถ้าไม่เจอเชื้อก็ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้าให้กักตัวที่บ้าน ไม่มีความมั่นใจในการเซฟตัวเอง เช่นที่บ้านใหม่เรือทอง ให้มีการกักตัวร่วมกันที่ศาลากลางหมู่บ้าน ก็เห็นว่ามีขวดเหล้าเรียงกันเป็นตับ เข้าใจว่าต้องนั่งดื่มเหล้าและใช้แก้วเดียวกัน ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปคุม แม้จะเป็นพื้นที่ที่หมู่บ้านกักให้ แต่ไม่วางตัวเท่าที่ควร

นายชนะศักดิ์ กล่าวอีกว่า เราไม่สามารถใช้งบประมาณจ้าง อปพร. จ้าง อสม.เข้าไปดูแลในทุกหมู่บ้านทั้ง 18 หมู่บ้านของ ต.ด่านได้ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงมีการประชุมคณะกรรมการแอลซีของตำบลด่านเมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) มีมติว่าควรจะหาสถานที่ส่วนกลาง ให้คนมากักตัว มีเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแล มี อปพร.และอสม.เข้าไปดูแล 24 ชั่วโมง อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ การกินการนอนเราก็หาให้และดูแลใกล้ชิด ซึ่งจะควบคุมได้ง่ายกว่าให้กักตัวที่บ้าน

“ถ้าให้มาอยู่ที่ตลาดสดโอท็อป อบจ.สุรินทร์แห่งนี้ ก็จะใช้ไม้อัดล้อมไว้ทั้งหมด ให้เป็นสัดส่วน และวันนี้จะมาล้างตลาด แต่ถ้ามาแล้วพ่อค้าแม่ค้าไม่เห็นด้วย เราก็เลือกบ้านพักเจ้าหน้าที่ชลประทานสุรินทร์ ภายในอ่างเก็บน้ำห้วยเชิงแทน” นายชนะศักดิ์ กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ์ พิมพ์วงศ์ ตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าชาวตลาดสดโอท็อป กล่าวว่า ที่ตลาดชายแดนช่องจอมแห่งนี้ มีตลาดหลายแห่งอยู่ใกล้เคียงกัน เป็นแหล่งค้าขายสินค้าจำนวนมาก เป็นแหล่งธุรกิจ ของกินของใช้มีเกือบ 80% หากมีการจัดตั้ง รพ.สนามที่นี่ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งที่มีที่รองรับคือบ้านพักชลประทาน ทำไมไม่เลือกก่อน ทำไมจะมาเลือกที่นี่ ที่นั่นไม่มีตลาด ไม่มีเศรษฐกิจ ไม่มีธุรกิจ ไม่มีพ่อค้าแม่ค้า ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย อยากทราบข้อมูลในการสำรวจสถานที่ เอกสารที่ออกจากห้องประชุมว่าตลาดที่นี่มีความเหมาะสม มีมาตรฐานยังไง

“พ่อค้าแม่ค้าที่มาวันนี้ ไม่ได้อยากมีปัญหากับส่วนราชการ แต่มาเพื่อรักษาผลประโยชน์ตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นการป้องกันความปลอดภัยด้วย ท่านว่าควบคุมได้ มีการกั้นแยกสัดส่วนต่างๆ ท่านจะมั่นใจ 100% หรือว่าดึกๆ ดื่นๆ จะไม่มีการลักลอบออกมา ผมดูข่าวบ่อย ขี้เกียจเข้าห้องน้ำก็เอาถุงปัสสาวะอุจจาระโยนข้ามรั้ว แล้วมันจะไปที่ไหน ผมว่าอย่าดีกว่า ปล่อยที่นี่ให้เป็นตลาดดีกว่า พ่อค้าแม่ค้า ก่อนจะหยิบจับเงิน เขามีเจลมีแอลกอฮอล์ล้างมือ พวกเราดูแลตัวเอง 100% แน่นอน เราเป็นผู้จำหน่าย พวกเราก็รักชีวิต รักตัวเองและรักผู้บริโภคด้วย” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน