เดินหน้ากฎหมายคุ้มครองช้างไทย ฝันใฝ่ของคนรักสัตว์ เน้นการจัดสวัสดิภาพช้างเลี้ยงให้เหมาะสม มีอิสระแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่ถูกบังคับใช้งานหนัก

นักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าขึ้น-ลงจากแหย่ง(ที่นั่งบนหลังช้าง) เพื่อสัมผัสประสบการณ์สักครั้งในชีวิตบนหลังช้าง ช้างในปางช้างหรือสวนสัตว์หลายแห่ง ต้องถูกบังคับให้บริการนักท่องเที่ยวติดต่อกันหลายชั่วโมงตราบที่ยังมีนักท่องเที่ยวรอคิว หรืออาจถูกเพิ่มรอบการแสดงโชว์มากขึ้นเมื่อตั๋วเข้าชมยังขายได้

ช้างจึงถูกตีตราเป็นเพียงสินค้าภายใต้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยภาพลักษณ์ช้างใหญ่ใจดี ฉลาด ต้องทำได้ทุกอย่างเพื่อรอยยิ้มของนักท่องเที่ยว หารู้หรือไม่ว่ารอยยิ้มเหล่านั้นกลับห่อน้ำตาของช้างไว้ ภายใต้การฝึกฝนที่ทรมานกว่าช้างจะวาดรูปได้หรือแสดงความสามารถอะไรสักอย่าง ไม่เพียงเท่านั้นยังแฝงไปด้วยค่านิยมที่ผิด เกิดธุรกิจมืดค้าซากช้างและงาช้างด้วยมูลค่ามหาศาล

“ช้างไทย” มีบทบาทในหลากหลายมิติ ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ได้รับการยกย่องเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันบทบาทของช้างไทยในฐานะสัตว์ประจำชาติเปลี่ยนไป ช้างเลี้ยงเพิ่มจำนวนมากถึง 2,798 ตัว เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนถึงร้อยละ 70 แต่กลับไม่ได้สะท้อนประโยชน์ด้านการอนุรักษ์แต่อย่างใด ขณะที่ช้างป่ายังคงถูกคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัย ป่าอนุรักษ์ลดลง ความขัดแย้งคนกับช้างป่ารุนแรงขึ้น

ด้วยมูลค่าการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นทุกปี ทำให้ช้างจำนวนมากตกอยู่ในสถานะวิกฤติถูกทารุณกรรม ลูกช้างถูกพรากจากแม่ตั้งแต่เล็ก นำไปขังซองแคบ ๆ ถูกใช้ตะขอสับ ทุบตี บังคับให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดนานนับปี เป็นการฝึกให้สัตว์ใหญ่อย่างช้างทำตามคำสั่งของคน ก่อนนำไปบริการสร้างรอยยิ้มให้แก่นักท่องเที่ยว

ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาวนานเกือบสองปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ช้างกลายเป็นภาระของปางช้างหรือเจ้าของ ต้องถูกเลิกเช่าหรือขายออกไป ควาญต้องพาช้างกลับหมู่บ้านชายป่าด้วยหวังว่าพอจะปล่อยให้ช้างให้หากินจากป่าได้บ้าง บางส่วนยังคงติดอยู่ในสวนสัตว์ ความอดยากขาดแคลนอาหารซ้ำเติมความเป็นอยู่ให้ยิ่งแย่กว่าเดิม

นี่คือสถานการณ์ของช้างไทยในปัจจุบัน ทำให้ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ ร่วมมือและผลักดันร่าง พรบ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย ให้เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยในการคุ้มครองสวัสดิภาพหรือปกป้องช้างจากการถูกทารุณกรรม ซึ่งมีการเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของรัฐสภาแล้ว

นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และผู้ริเริ่มแนวคิดเสนอกฏหมาย กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับช้างเลี้ยง คือ พรบ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 แต่เป็นกฏหมายเก่าแก่กว่า 80 ปี ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ทั้งยังสนับสนุนให้มีการนำช้างป่ามาใช้งาน และพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 แต่ พรบ.ดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดชัดลักษณะที่เข้าข่ายทารุณกรรม ทำให้ช้างได้รับความคุ้มครองน้อยมากภายใต้กฏหมายที่มีอยู่

นายปัญจเดช กล่าวต่อว่า ในปี 2562 มีการริเริ่มระดมความเห็นจากเครือข่ายต่างๆ กระทั่งเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จึงใช้จังหวะนี้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาของช้างในกรงเลี้ยงทั้งระบบ นำมาสู่การยกร่าง พรบ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย ถือเป็นร่างกฏหมายฉบับแรกของของโลกที่ดูแลป้องกันการทารุณกรรมและส่งเสริมสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงให้ดีขึ้นในทุกมิติ โดยยึดหลัก 5 freedom อันเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

“พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับใหม่นิยามการป้องกันการทารุณกรรม กำหนดข่ายข่ายทรมานไว้ชัดเจน เน้นการจัดสวัสดิภาพช้างเลี้ยงให้เหมาะสม มีอิสระแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่ถูกบังคับใช้งานหนักหรือไม่บังคับการแสดงเพื่อความบันเทิง ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สนับสนุนให้ปางช้างปรับรูปแบบที่เป็นมิตรกับช้าง มีกองทุนชดเชยกรณีต่างๆ เช่น ช้างทำร้ายคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ภายใต้กฏหมายนี้จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างช้างเลี้ยงทั้งระบบ” นายปัญจเดช กล่าว

นายปัญจเดช กล่าวอีกว่า แม้ช้างเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ร่างกฏหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูกับสวนสัตว์หรือปางช้าง แต่กลับเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวของโลกอนาคตภายหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อย่างมาก มีแนวโน้มปฏิเสธการท่องเที่ยวช้างแบบเก่า ที่ให้คนขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง อาบน้ำกับช้าง และการแสดงโชว์ละครสัตว์ เป็นต้น เห็นได้จากกฏหมายในประเทศเหล่านั้น

เช่น อังกฤษหากพบว่านักท่องเที่ยวของตนมีการท่องเที่ยวสถานที่ที่มีการแสดงโชว์ของสัตว์ป่า จะมีความผิดตามกฎหมาย หรือสมาคมท่องเที่ยวยุโรปมีการประกาศไม่สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการนำสัตว์ป่ามาบังคับแสดงเพื่อความบันเทิง ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น จึงต้องขอแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจ และประชาชนที่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของกฏหมายฉบับนี้ รวมทั้งการขอแรงสนับสนุนจากรัฐสภาเพื่อให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในชั้นกรรมธิการฯ ได้นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริง ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับช้างเลี้ยงให้ดีขึ้นตามเจตนารมณ์ของคนไทยผู้รักช้าง

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมร่างและผลักดันกฎหมายคุ้มครองช้างไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทยเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าเพราะมองเรื่องสวัสดิภาพของช้างเป็นหลักสำคัญ ซึ่งอาจมองคนละมุมกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังหวังพึ่งพิงสัตว์ใหญ่อย่างช้างในการหารายได้ด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ ด้วยการนำช้างมาสร้างความบันเทิงให้แก่นักท่องเที่ยว ขณะที่สากลมองว่าเป็นการทรมานสัตว์รูปแบบหนึ่ง ดังนั้นจำเป็นต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับช้างอย่างแท้จริง

“เชื่อว่าจะมีแรงต้านจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวช้าง เพราะกฎหมายนี้คือการเปลี่ยนทั้งระบบ แต่ถ้าเรามองว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ไม่ควรเอาช้างไปทำธุรกิจในแบบที่เป็นอยู่ เพราะว่าวันนี้ทิศทางการท่องเที่ยวสัตว์ในโลกไม่ใช่การทรมานสัตว์อีกแล้ว แต่รูปแบบของไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมันเป็นรูปแบบการทรมานสัตว์ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวให้เป็นรูปแบบใหม่ อนาคตแบบเดินจะไปต่อไม่ได้” นายหาญณงค์ กล่าว

นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ช้างไทยจะไม่ใช่สัตว์พาหนะตามกฎหมายเก่าอีกต่อไป เพราะช้างเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ได้ถูกใช้งานลากไม้เหมือนในอดีตอีกแล้ว นอกจากนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาลักลอบค้าช้างหรือซากช้าง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการออกตั๋วรูปพรรณจากเดิมกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเมื่อลูกช้างอายุ 8 ปี ซึ่งเกิดปัญหาสวมทะเบียนช้าง และนำไปสู่การค้าช้างผิดกฏหมาย เป็นการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยงทุกตัวตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนช้างเพื่อดูแลสวัสดิภาพช้าง และชดเชยกรณีเกิดเหตุเกี่ยวกับช้างอย่างครอบคลุมมากขึ้น

“พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับนี้อาจต้องถกอีกหลายยก ซึ่งหวังว่าจะมีรายชื่อของภาคประชาชนไปร่วมด้วยในชั้นกรรมาธิการ เพื่อเข้าไปนำเสนอข้อมูลให้ชัดเจน หวังว่าภาคการเมืองจะเห็นความสำคัญกับร่าง พรบ.ช้างไทย ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของภาคประชาชน” นายหาญณรงค์ กล่าว

ขณะที่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าและนักเขียน ให้ความเห็นด้านการอนุรักษ์ช้างไทยว่า ตนเองมีความเชื่อว่าสัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า ไม่ควรอยู่ในกรง เหมือนอย่างแรด เล็บ กล้ามเนื้อ คือเครื่องประดับแสดงศักดิ์ศรีของสัตว์ป่า ไว้ข่มตัวผู้หรืออวดตัวเมีย เป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ เช่นเดียวกับช้าง แต่ปัญหาของช้างไทยในป่าคือพื้นที่ป่าแหล่งอาศัยถูกทำลาย

อย่างกรณีที่เป็นข่าวดังทั่วโลก ข่าวช้างป่าที่คุณหมิงในจีนหลงทางนับพันกิโลเมตร ทุกคนตื่นเต้นกับการเดินทางไกลของช้าง แต่ข้อเท็จจริงช้างไมไ่ด้หลงทาง แต่พยายามเดินไปตามเส้นทางเดิมในป่าที่ปัจจุบันถูกมนุษย์บุกรุก เหมือนกรณีช้างป่าที่เขาอ่างฤาไนกับช้างป่าเขาใหญ่ แค่ชั่วอายุจากรุ่นปู่หรือรุ่นพ่อไม่ถึง 100 ปี ถนนตัดขาดผืนป่าเป็นหย่อมๆ จากเมื่อก่อนช้างเคยเดินทางไปหากินหรือไปมาหาสู่กันได้ เกิดความหลากหลายทางพันธุ์กรรม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าช้างเดินออกนอกป่ามากินพืชไร่ของชาวบ้านที่ขยายที่ทำกินเข้ามา เกิดเป็นความขัดแย้งคนกับช้าง

“การแก้ปัญหาวันนี้ไม่อาจชี้ได้ว่าใครผิดใครถูกอีกต่อไป แต่ต้องคิดว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร รัฐต้องร่วมมือกับชุมชนกำหนดเส้นทางเชื่อมผืนป่าที่ช้างเลือกเดิน ระหว่างเส้นทางหากช้างเข้าไปกินพืชไร่ ต้องมีกองทุนชดเชยอย่างเหมาะสม ชุมชนสามารถมีส่วนการอนุรักษ์ช้างได้ โดยจัดการท่องเที่ยวชุมชน มีโฮมสเตย์ให้คนไปเฝ้าดูพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างป่า ชุมชนมีรายได้ ช้างก็อยู่ได้” ม.ล.ปริญญากร กล่าว

ม.ล.ปริญญากร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันช้างบ้านอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งเทรนด์ในต่างประเทศนักท่องเที่ยวมีคุณภาพขึ้น สามารถเลือกปฏิเสธการท่องเที่ยวขี่ช้าง ไม่ได้ต้องการดูช้างวาดรูปหรือเตะฟุตบอลอีกแล้ว แต่อาจมีนักท่องเที่ยงจำนวนไม่มากที่ยังต้องการเที่ยวแบบเดิม ๆ ซึ่งวันนี้นักท่องเที่ยวอยากสัมผัสวิถีตามธรรมชาติของช้างมากกว่า เช่น ที่เมืองหลวงพระบางของลาวมีปางช้างที่ปล่อยช้างอยู่อย่างอิสระตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับแสดงก็สามารถทำได้และได้รับความนิยม แต่บ้านเรายังคงเห็นข่าวช้างทำร้ายนักท่องเที่ยว ทำร้ายควาญช้าง ซึ่งปัจจัยเกิดจากการไปบังคับช้างให้บริการนักท่องเที่ยว แต่ช้างเป็นสัตว์ใหญ่เมื่อเกิดความเครียดจึงนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงได้

“ตอนเด็กผมเคยไปสวนสัตว์ แต่ตอนโตไม่เคยไป เพราะรู้ว่าไปล้วจะเจอแววตาของสัตว์แบบไหน ส่วนตัวเชื่อว่าสวนสัตว์ยังมีประโยชน์กับเด็กๆ แต่ก็ต้องปรับตัวด้วย ไม่ใช่เหมือนที่เป็นอยู่เอาเสือมาขังให้ดู เอาช้างมาแสดง อาจจัดให้มีลักษณะแบบสวนสาธารณะผสมกับพิพิธภัณฑ์ มีต้นไม้ให้นกมาอาศัยโดยไม่ขังกรง มีแหล่งน้ำที่มีสัตว์ในท้องถิ่น มีการจัดแสดงภาพถ่ายหรือฉายสารคดีให้ชม เด็กจะรู้จักสัตว์แต่ละชนิดว่ามีหน้าที่อะไรใรป่า การอนุรักษ์ป่าหรือสัตว์มีวิธีการอย่างไร ซึ่งในหลายประเทศก็ปรับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ และเลิกนำสัตว์มาขังในกรงหรือแสดงให้คนดูแล้วแล้ว” ม.ล.ปริญญากร กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน