ชาวดอยแม่สลอง ปลื้มปลูกต้นไม้ 26 ปี กลายเป็นป่าใหญ่ 3.5 พันไร่ ได้ผืนป่าสมบูรณ์ แหล่งอาหารพึ่งพายุคโควิด

เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) อาสาสมัคร ผู้อาวุโส และเยาวชนในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านบนดอยแม่สลอง ร่วมตีแปลงป่าเพื่อสำรวจเก็บข้อมูลความสมบูรณ์ของป่ากว่า 3.5 พันไร่ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

ซึ่งเป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลและปลูกไว้เมื่อกว่า 26 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันป่าผืนนี้กลายเป็นแหล่งอาหารและสารพัดการใช้ประโยชน์ของชุมชนใน 3 หมู่บ้านคือบ้านป่าคาสุขใจ บ้านจะบูสีและบ้านพนาสวรรค์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ร่วมกันดูแล

นายอาเจอะ หม่อโปกู่ ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจ กล่าวว่า การเข้ามาสำรวจป่าในครั้งนี้เพื่อในอนาคตข้างหน้าจะได้มีป่าอยู่คู่กับชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชุมชน เพื่อไม่ให้ใครมาทำลายหรือเข้ามาทำกินในพื้นที่ป่า พวกเราต้องการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ไม่เหนื่อย และสืบทอดกันในรุ่นต่อไป โดยชาวบ้านสามารถมาเก็บของป่าไปบริโภคได้ และช่วยกันป้องกันไม่ให้มีการตัดไม้ในพื้นที่

น.ส.อมรรัตน์ หรือนาสึกะ รัตนาชัย อดีตสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.)และผู้นำชาวบ้านจะบูสี กว่าว่ากล่าวว่า รู้สึกว่าดีใจและภูมิใจทุกครั้งที่เห็นป่าผืนนี้ เพราะเป็นป่าที่ชาวบ้านและมูลนิธิ พชภ.ร่วมกันปลูก ฟื้นฟู และดูแลจนกลายเป็นป่าใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน

ทั้งๆ ที่แต่เดิมบริเวณนี้เป็นเป็นภูเขาหัวโล้น ผ่านมาร่วม 30 ปี กลายเป็นป่าที่มีความหลากหลายและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งพืชอาหาร เช่น หน่อไม้ รถด่วนและพืชใช้สอย เช่น เอาไม้มาทำฟืนหรือไม้ซ่อมแซมบ้าน ในขณะที่หมู่บ้านอื่นซึ่งไม่มีป่าต้องไปซื้อ

“รู้สึกภูมิใจที่พวกเราได้ร่วมกันปลูกป่าและดูแล ทำให้ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่ สมัยก่อนไม่มีที่หาฟืนเพราะเราไม่มีป่าของตัวเอง บริเวณรอบๆ เป็นภูเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้มองไปทางไหนก็สดชื่น

พวกเราชาวจะบูสีได้ทำเรื่องท่องเที่ยวพานักท่องเที่ยวมาเดินป่าด้วย แถมมีสมุนไพรมากมายให้เราเก็บใช้สอย” น.ส.นาสึกะกล่าว และว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 หมู่บ้านจะบูสีได้ปิดหมู่บ้าน และชาวบ้านสามารถอยู่ได้จนแทบไม่ต้องพึ่งพาภายนอกเนื่องจากมีอาหารอยู่ในป่าแต่พวกเราก็มีกติการ่วมกันมาโดยตลอด เช่น ห้ามตัดไม้ขาย เก็บหน่อไม้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด

ขณะที่ น.ส.นุชจรีย์ สิงห์คราช นักวิชาการอิสระด้านนิเวศวิทยา กล่าวว่าการตีแปลงป่าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายของต้นไม้ ว่าในพื้นที่มีต้นไม้อะไรบ้าง โดยจะดูว่าป่าผืนนี้ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไรและในป่าผืนนี้สามารถเก็บคาร์บอน ได้เท่าไหร่

อีกวัตถุประสงค์แฝงก็คือ ต้องการให้เด็กๆ ในพื้นที่ ได้เรียนรู้ผืนป่าในพื้นที่โดยได้รับการสืบทอดจากผู้ใหญ่มาให้ความรู้และนำไปสืบทอดต่อเพื่อให้ได้รู้จัดต้นไม้ในท้องถิ่น โดยหลังจากที่ได้มีการสำรวจตีแปลงป่าแล้ว จะมีการนำผลที่ได้จากการตีแปลงว่าใน 1 แปลงมีต้นไม้ชนิดใดบ้าง แล้วนำมาคำนวนถึงค่าการดูดซับคาร์บอน นอกจากนี้ยังเป็นตัวชี้วัดเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายเมยัง อมรศิริเลิศทิพย์ ชาวบ้านป่าคาสุขใจซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการปลูกป่าเมื่อปี 2538 กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวบ้านมาอยู่มีแต่หญ้าคา ซึ่งอยู่ไม่ได้เพราะป่าคือแหล่งอาหารจึงได้หารือร่วมกันว่าจะหาต้นกล้ามาปลูก และฟื้นฟูป่า จนถึงปัจจุบันประมาณ 26 กว่าปีแล้ว จนได้ผืนป่าสมบูรณ์

จนทำให้ชาวบ้านมีพืชสมุนไพร อาหารการกิน ส่วนการตัดไม้จะต้องแจ้งถึงความจำเป็นกับคณะกรรมการหมู่บ้านก่อนจึงจะสามารถตัดได้ นอกจากนี้ในป่ายังพบว่าสัตว์ป่า เช่น ลิง ไก่ป่า หมูป่า เข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านก็ได้มีข้อตกลงห้ามล่าสัตว์ในป่าชุมชนเพื่ออนุรักษ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน