วันที่ 7 ธ.ค. เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการกองร้อยรักษาความสงบที่ 3 พันพัฒนา 3 กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 นำกำลังเข้าตรวจค้นและจับกุม น.ส.ธนิดา พวงมาลัย อายุ 24 ปี พร้อมของกลาง ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดฮอร์โมน ประมาณ 80,000 เม็ด คิดเป็นมูลค่าเกือบ 700,000 บาท ภายในบ้านเลขที่ 80/6 หมู่ 3 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก่อนนำตัวผู้ต้องหาไปสอบสวนที่ สภ.แม่ปิง

สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับแจ้งว่ามีการขายยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดฮอร์โมนผ่านทางเฟซบุ๊กที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณในการเพิ่มขนาดหน้าอก รักษาสิว ทำให้มีหน้าใสและรูปร่างที่ดี มีการนัดรับทั่วเชียงใหม่และจัดส่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ซื้อใช้จำนวนมาก จากนั้นจึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจวางแผนจับกุม โดยติดต่อขอซื้อยาดังกล่าวจาก น.ส.ธนิดา และนัดหมายไปรับยาที่บ้านหลังดังกล่าว จากการสอบถามทราบว่า น.ส.ธนิดา เป็นผู้นำยาดังกล่าวมาจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก ในราคากล่องละ 180 บาท และยังมีการจัดโปรโมชั่นโดยซื้อในปริมาณมากจะแถมแหวนทอง 1 วง

ด้านนายอิศรา นานาวิชิต ตำแหน่งเภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข เปิดเผยว่า การใช้ยาคุมกำเนิดโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญมีความอันตรายมาก จึงอยากออกเตือนประชาชนเพราะการใช้ยาคุมกำเนิดประเภทเม็ดฮอร์โมนเป็นการปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย การใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ผู้ใช้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้และได้รับอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีเลือดออกกะปริดกะปรอย หน้าเป็นฝ้า ประจำเดือนขาด ในยาคุมบางชนิดอาจนำไปสู่การเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้

นอกจากยาคุมกำเนิดแล้วการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นจากอินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพมาตรฐานและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นหากต้องการซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพควรเลือกซื้อในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องและได้รับคำแนะนำการใช้โดยแพทย์หรือเภสัชกร และอยากให้ทางผู้บริโภคเข้าใจถึงบริบทของยาที่ควรจะซื้อจากแหล่งที่มีแพทย์หรือเภสัชกร แนะนำในการใช้อย่างถูกต้อง โดยอะไรก็ตามที่มีการโฆษณาว่าเป็นยาโอ้อวดสรรพคุณ อยากให้ทางผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความปลอดภัย และที่มาของผลิตภัณฑ์ เพื่อสามารถรับรู้ว่ายาแต่ละชนิดมีที่มายังไง รวมไปถึงโทษและผลข้างเคียงของตัวยาชนิดนั้นๆ ด้วย ซึ่งเคมีภัณฑ์นั้นมีทั้งขอดีและข้อเสีย อีกทั้งควรมีการประเมินการใช้ภายหลังการใช้ยาแล้วด้วย

เบื้องต้นได้แจ้งข้อหากับ น.ส.ธนิดา ว่าจำหน่ายยาอันตรายตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่ห้ามขายนอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาต, ขายยาชนิดดังกล่าวผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 12 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ยังผิดฐานโฆษณา พรบ.ยา เนื่องจากยาอันตรายห้ามให้มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ ผิดตามมาตรา 88 มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน