อุทยานแห่งชาติทับลาน จัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเสือโคร่ง กินควายชาวบ้าน หัวหน้าทับลาน เผย อาจเคยเป็นอดีตจ่าฝูง ถูกแย่งตำแหน่ง หนีออกจากป่า ยันเร่งหาทางแก้ไขปัญหา ระบุ ปัจจุบันมีเสือโคร่ง ป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ มากกว่า 20 ตัว

จากกรณีเกิดเหตุการณ์เสือโคร่ง จากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ก่อเหตุกัดควายชาวบ้านตาย 2 ตัวในรอบ 2 สัปดาห์ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พบควายแม่ลูกอ่อนมีร่องรอยถูกเสือโคร่งกัดเข้าที่บริเวณขาหลังและก้น ในพื้นที่ป่าตลาดวัว อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานประมาณ 2.5 กิโลเมตร

ส่วนเหตุการณ์ที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พบควายเพศเมียตัวเต็มวัยท้องแก่ ถูกกัดเข้าที่บริเวณขาหลังและสะโพก ในพื้นที่ป่าคลองนกโกโร่ พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากแหล่งชุมชนประมาณ 3 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีควายท้องแก่ได้รับบาดเจ็บ มีร่องรอยถูกเสือตะปบเข้าที่ขาหลังด้านซ้าย เป็นแผลเหวอะหวะอีกหนึ่งตัวด้วยนั้น

ล่าสุดวันนี้ (8 กันยายน 2564) นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ยังคงให้เจ้าหน้าที่จากเขตจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 3 (คลองน้ำมัน) สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตจัดการอุทยานแห่งชาติที่ 5 (ภูลำไย) และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยสัตว์ป่า ดงพญาเย็น – เขาใหญ่ แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เสือโคร่งกลับมาทำร้ายปศุสัตว์ของชาวบ้าน และพยายามติดตามหาตัว เพื่อผลักดันเข้าสู่ป่าชั้นในอย่างเต็มที่

นายประวัติศาสตร์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์เสือโคร่งออกมากัดกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ทำให้มีการเบียดบังหรือต่อสู้เพื่อแย่งพื้นที่หากินที่มีอยู่จำกัด

อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นนี้ คาดว่าเสือโคร่งที่ออกมากัดควายชาวบ้าน อาจจะเป็นเสือแก่ที่สู้กำลังเสือหนุ่มไม่ไหว จึงถูกแย่งพื้นที่หากิน และต้องหาพื้นที่ใหม่ในการล่าเหยื่อ โดยเสือโคร่งตัวผู้แต่ละตัว จะมีอาณาเขตล่าเหยื่อประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร

แต่หากถามว่า เป็นข่าวร้ายหรือข่าวดี ทางกรมอุทยานแห่งชาติ มองว่า การเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ สามารถมองได้ว่า เสือมีการเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อควบคุมระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น แต่ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการล่าเหยื่อ ที่อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่ตามแนวเขตป่า

เนื่องจากแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อเสือในป่าชั้นใน เริ่มลดน้อยลง เพราะป่ากำลังกลายสภาพเป็นป่าดิบ จึงต้องออกมาหาอาหารตามแนวเขตที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และเสือก็ตามลงมา ทำให้มีโอกาสที่จะล่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติฯ ก็จำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

จากข้อมูลล่าสุด ในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ซึ่งเป็นผืนป่ามรดกโลก มีการสำรวจพบเสือโคร่งมากกว่า 20 ตัว ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา เมื่อปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบลูกเสือโคร่งเกิดใหม่ จำนวน 2 ตัว และมีแนวโน้มที่จะมีการเพิ่มจำนวนประชากรเสืออย่างต่อเนื่องในแต่ละปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน