ศอ.บต. ทุ่ม 200 ล้านบาท ลงนามร่วม บพท. ผนึกกำลัง 37 องค์กร แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้งานวิจัย บพท.เป็นฐาน นำเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และเลขที่บ้าน ค้นหาความยากจนทุกมิติ คาดปี 2565 แก้ไขได้ตามแผน ยุติความรุนแรงอย่างยั่งยืน

วันที่ 20 ก.ย. พ.ศ. 64 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม แก้ไขปัญหาคนจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปี 2565 ศอ.บต. ร่วมกับ 37 องค์กร มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนทุกครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักและเลขที่บ้าน เพื่อค้นหาความยากจนในมิติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนที่ตรงเป้าหมายอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน 5 ด้านอย่างต่อเนื่อง คือ ด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการของรัฐ แต่หลังจากนี้จะนำงานวิจัยและนวัตกรรมในการตรวจสอบครัวเรือนยากจนได้อย่างแม่นยำของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย บพท. มาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ส่งผลให้พื้นที่บอบช้ำเข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว วันนี้ถือเป็นมิติที่ดีของการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน โดยคาดว่า ในปี 2565 นี้ ภาคใต้จะมีถังข้อมูลทั้งหมดของคนจน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตามแผนงานได้ในที่สุด และเมื่อถึงวันนั้นจะสามารถยุติความความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ. บพท. กล่าวว่า แผนงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของประเทศที่มีการนำงานวิจัย และนวัตกรรมที่ผ่านกระบวนการความร่วมมือกับกลไกในพื้นที่ โดยเอาปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้งเพื่อหาคำตอบว่า คนจนคือใคร อยู่ที่ไหน จนเพราะอะไร จะพ้นความจนได้อย่างไร โดยการเข้าไปค้นหา และเก็บข้อมูลคนจนในพื้นที่จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง แล้วสร้างระบบการคัดกรอง และช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จ และแม่นยำที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมได้แก่ การส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือกับระบบของภาครัฐ และเอกชน

สำหรับ บพท.ได้ร่วมกับ 20 สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาคนจนในพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัดนำร่องที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านรายได้ของครัวเรือนต่ำที่สุด (HAI) ปี 2562 โดยในปี 2563 มี 10 จังหวัดได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และในปี 2564 ได้ขยายพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 10 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา

ขณะนี้ค้นหาและสอบทานคนจนได้ทั้งสิ้น 97,042 ครัวเรือน 451,444 คน จาก TPMAP ที่ตั้งไว้ 131,040 คน ส่งต่อความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 97,042 ครัวเรือน 451,444 คน คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จำแนกเป็นระดับส่วนกลาง ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดที่ค้นหา และสอบถามได้ไปยังกระทรวงการคลัง และสถาบันเศรษฐกิจ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการจัดสรร และเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งต่อไปยังโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. 10,024 ครัวเรือน และ กสศ. 97,745 คน ในระดับพื้นที่ส่งต่อไปยัง พมจ. ศจพ. พช. พอช. อบจ. อบต. สภาองค์กรชุมชน 15,341 ครัวเรือน 46,140 คน

ทั้งนี้มีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปแล้ว 2,726 ครัวเรือน จำแนกเป็น พอช. 515 ครัวเรือน (พอช. สร้างบ้าน 18,000 บาท/ราย) พมจ. 2,189 ครัวเรือน กสศ. 22 ราย (36,000 บาท/ราย) คิดเป็นงบประมาณที่ช่วยเหลือ 17,608,000 บาท

นายสูไฮนี เจะเลาะ แม่เลี้ยงเดี่ยวกินข้าวต้มเกลือ อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า แม่ตอนนี้ตนพ้นจากความจนแล้ว จากการช่วยเหลือของพี่น้อง แต่ในพื้นที่ยังมีคนจนอีกเยอะ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงโอกาส และสวัสดิ์การของรัฐทั้งโดยตรง และทางอ้อม ก็รู้สึกดีใจถ้าสามารถเคาะประตู้บ้านคนจนได้จริงๆเชื่อว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นจริง ถ้าเคาะประตูจริง คุยจริง แล้วจะรู้ความจริงว่าเขาจนยังไงทำไมเขาจน

นายชนธัญ แสงพุ่ม. รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การแก้ปัญหาจน ศอ.บต. ทุ่มงบประมาณ 200 ล้าน จะปรับจากงบโครงการตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนไปใช้ในการแก้จนในระดับพื้นที่เป้าหมายให้สภาสันติสุข และพื้นที่เลือกคนจนตามฐาน และวางแผนแก้จนคนในพื้นที่ ตอนนี้ทุ่มหมดหน้าตักให้เงินถึงมือประชาชน จะมีข้าราชการรับผิดชอบ 1 คน ต่อ 1 ครัวเรือน ถ้าไม่สำเร็จ เล่นข้าราชการ เพราะถือว่าเราได้เงินจากภาษี ประชาชน จะต้องไปช่วย ประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้จะมีการนำเสนอเป็นหลักการในการประชุม กพต. ที่ 28/10/64 นี้้ ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน