กรมชลประทาน เร่งจี๋ จ้างที่ปรึกษาศึกษา PPP โมเดลเอกชน-รัฐ ร่วมทุนโครงการผันน้ำยวม 7 หมื่นล้าน นักวิชาการ เชื่อลุ่มน้ำสาละวินกระทบหนัก

วันที่ 22 ก.ย.64 มีรายงานข่าวว่า สำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 กันยายน 2564 เรื่องจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยวิธีคัดเลือก มีเนื้อหาสำคัญระบุว่ากรมชลประทานมีความประสงค์จ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาวิเคราะห์ วงเงินประมาณ 28,865,400 บาท

โดยมีการประชุมชี้แจงสำหรับผู้สนใจ ผ่านโปรแกรม Zoom ในวันนี้ (22 ก.ย.นี้) เวลา 10.00-12.00 น หนังสือดังกล่าวระบุว่า กำหนดยื่นเอกสารในวันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยขอบเขตงานตามข้อตกลง หรือ TOR มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า ระยะเวลาดำเนินการ 150 วัน

ขอบเขตการดำเนินงานโครงการ งานศึกษาวิเคราะห์โครงการเพื่อนำเสนอโครงการตามหมวดที่ 4 การจัดทำและดำเนินโครงการส่วนที่ 1การเสนอโครงการตาม พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พศ.2562 ที่ปรึกษาจะดำเนินการ ศึกษาวิเคราะห์โครงการและจัดทำรายงานเพื่อเสนอโครงการ

ข่าวแจ้งว่า เอกสาร TOR ระบุว่า ที่ปรึกษาจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการโดยจะมีเนื้อหาประกอบดังนี้ 1.ความเป็นมาของโครงการ หลักการและเหตุผลในการจัดทำโครงการ รวมถึงความสอดคล้องกับแผนการจัดทำโครงการร่วมทุน 2.สาระสำคัญของโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขอบเขตและระยะเวลาของโครงการ และประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ

3.ความพร้อมในการจัดทำและดำเนินโครงการที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ รวมถึงความพร้อมในด้านการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ในการใช้ทรัพย์สิน ผลกระทบต่อประชาชนจากการดำเนินโครงการ และกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ

เอกสาร TOR ระบุว่า 4.ความเป็นไปได้ของโครงการในด้านเทคนิค ด้านเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ด้านการเงิน หรือด้านเศรษฐศาสตร์ โดยต้องระบุสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้วย

5.ความเสี่ยงของโครงการ รวมถึงการระบุความเสี่ยง การพิจารณาถึงโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง ผลกระทบในกรณีที่เกิดความเสี่ยงขึ้น และวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ 6.ทางเลือกและรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การจัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบ การจัดสรรความเสี่ยง และการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน โดยคำนึงถึงการให้เอกชนใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมในโครงการร่วมลงทุน

เอกสาร TOR ระบุว่า 7.ความพร้อมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและดำเนินโครงการ รวมถึงความเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจกระทบต่อความสำเร็จของโครงการ พร้อมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคดังกล่าว

8.ผลการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ให้ที่ปรึกษานำความเห็นของหน่วยงานรัฐและ เอกชน มาประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คณะกรรมการประกาศกำหนด

TOR ยังระบุอีกว่า ที่ปรึกษาต้องวิเคราะห์ความจำเป็นของโครงการในการกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อให้โครงการร่วมลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์ โดยระบุรายละเอียดของมาตรการสนับสนุน พร้อมทั้งเหตุผลและความจำเป็นในการให้การสนับสนุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสนับสนุนในรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการ มาตรการสนับสนุน

ได้แก่ 1. สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 2.สิทธิ์การเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี โดยมีให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้

3.มาตรการสนับสนุนทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนด ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนั้นในมาตรการที่สนับสนุนใดต้องมีการจ่ายงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน งบประมาณของหน่วยงาน เจ้าของโครงการหรือจะต้องมีการก่อหนี้

โดยการกู้หรือการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังเพื่อใช้จ่ายในการให้การสนับสนุนแก่โครงการร่วมลงทุนดังกล่าว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตาม กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะและกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยการเงินการคลังของรัฐโดยเคร่งครัด

อาจารย์ ม.เกษตร แฉทุ่ม 28 ล้าน งบจ้างศึกษา

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ความว่า “มาไวสายฟ้าลาบ เอ้ย สายฟ้าแล่บ ราวกับเป็นห่วงว่าประชาชนจะเสียประโยชน์ #ผันน้ำยวมเติมภูมิพล เริ่ม step ที่ 1 ตามระบุใน #eiaร้านลาบ คือ ‘การศึกษา PPP’ โมเดลเอกชน – รัฐ ร่วมลงทุน ด้วยงบจ้างศึกษาครั้งนี้อีก ’28 ล้านบาท’

(หลังจากที่จ้างศึกษา อีไอเอร้านลาบไปแล้วด้วยงบ 90 ล้านบาท) กรมชี้แจง TOR (เพื่อสรรหาบริษัทที่ปรึกษาที่สนใจเป็นผู้ศึกษา โมเดล PPP เอกชน – รัฐ ร่วมลงทุน) เมื่อ 10:00 น. วันนี้ 22/09/64

“กำหนดส่งข้อเสนอวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 จากวันนี้นับไป มีเวลาเตรียมเอกสารแค่ 6 วัน ซึ่งไวมาก ทำอย่างกะมีบริษัทเตรียมเอกสารรอพร้อมส่งแล้ว!!! มารอดูค่ะ ว่าใคร หรือ บริษัทไหนจะได้งานนี้ไป .. ระยะเวลาทำงานก็ว่องไว แค่ 150 วัน คนทำงานคือ ต้องเก่งมากๆ ภูมิใจ รับรู้รับทราบแล้ว บอกตรงๆ ว่าใจหายค่ะ”เนื้อหาในโพสต์ของ รศ.ดร.สิตางค์ ระบุ

เนื้อหาในโพสต์ของ รศ.ดร.สิตางค์ ระบุอีกว่า โครงการมูลค่ามหาศาล ที่กระบวนการมีส่วนร่วมล้มเหลว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังมีคำถามมากมาย การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ คือ ไม่คุ้ม .. ความจำเป็นของการมีโครงการ คือ มีวิธีอื่นที่ทำได้ แต่ไม่ทำ แต่อยากทำโครงการนี้!! ร้ายสุด คือ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ส่งหนังสือ ขอรายงานอีไอเอ ไปที่กรมชลประทาน กรมแสดงอาการเงียบ สงบ ไม่ไหวติง ราวกับแกล้งตาย… สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ คือ ทำยังไง … ได้บ้าง

นักวิชาการ ชี้ลุ่มน้ำสาละวินกระทบหนัก

ขณะที่ รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศในลุ่มน้ำสาละวินที่จะเกิดจากโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวินช่วงเขตประเทศไทย มีลำน้ำสาขาสำคัญ คือ น้ำยวม น้ำเงา และลำน้ำขนาดเล็กอื่นๆ อีกหลายสาย มีความเชื่อมร้อยเป็นระบบนิเวศเฉพาะ ในฤดูน้ำหลากปลาจากปากแม่น้ำทางทิศใต้จะอพยพขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำสาขาเหล่านี้

โดยจากการเก็บข้อมูลในเขตไทยพบพันธุ์ปลากว่า 190 ชนิด โดยทั้งลุ่มน้ำสาละวินทั้งหมดคาดว่ามีมากถึง 200-300 ชนิด ซึ่งมีเพียงไม่เกิน 10 ชนิด ที่พบในลุ่มน้ำปิงที่เป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาเค้าขาว เป็นต้น นอกจากนี้ปัจจุบันยังคงมีการค้นพบพันธุ์สัตว์น้ำชนิดใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง

“แม่น้ำสาละวินมีความจำเพาะ น้ำลึก กระแสน้ำไหลแรง ตลิ่งสูงชัน บรรดาลำน้ำสาขาจึงมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสัตว์น้ำ ต้องอาศัยเข้ามาวางไข่ หากินในลำน้ำสายย่อย น้ำยวมมีความสำคัญที่สุดเพราะมีศักยภาพเป็นพื้นที่ราบมากกว่าทุกลุ่มน้ำ การสร้างเขื่อนกั้นน้ำยวมจะทำให้กระแสน้ำที่เคยไหลกลายเป็นน้ำนิ่งท่วมพื้นที่ราบ ท่วมแหล่งวางไข่ของปลาจากสาละวิน กระทบรุนแรงกับห่วงโซ่ ปลาน้ำไหลปรับตัวไม่ได้จะสูญพันธุ์ ปลาน้ำนิ่งจะขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้น” รศ.ดร.อภินันท์ กล่าว

รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวอีกว่า การผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบนิเวศของทั้งสองลุ่มน้ำ โดยเฉพาะการปนเปื้อนพันธุ์สัตว์น้ำที่หลุดรอดข้ามลุ่มน้ำ ทั้งปลากินพืช และปลากินเนื้อต่างถิ่น เกิดการแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาพื้นถิ่น จนกว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะสามารถปรับตัวเกิดความสมดุลในระบบนิเวศได้ต้องใช้เวลานับล้านปี ย่อมกระทบกับระบบนิเวศของลุ่มน้ำสาละวินที่ความความจำเพาะอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน