อัยการชี้ช่องข้อกฎหมายฟ้องเเพ่งสหกรณ์นครลานนาจำกัดได้ หลังรถสองเเถวแดงเชียงใหม่ทับสยองนักท่องเที่ยว ไร้หน่วยงานเข้าดูเเลผู้เสียหาย เเนะพบอัยการสคช.ช่วยเหลือ

จากกรณีรถสองแถวหรือสี่ล้อแดง ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 30-4050 เชียงใหม่ ที่วิ่งรับขนส่งคนโดยสารจากวัดพระธาตุดอยสุเทพขึ้นไปเที่ยวชมพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ไหลลงจากเนินลานจอดรถบริเวณหน้าพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ทับร่างนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นหญิงชาวจังหวัดพังงาเสียชีวิตคาที่ 2 ราย คือนางวรรณพร ตองติรัมย์ อายุ 60 ปี และนางดวงจันทร์ พงษ์เดช อายุ 63 ปีและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย คือ นางละเอียด เจริญรัตน์ อายุ 60 ปี ชาวจังหวัดพังงา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยรถสองแถวแดงคันดังกล่าวมีนายยงยุทธ บุญเลิศ เป็นคนขับและเป็นเจ้าของรถ และเป็นสมาชิกของของสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัด และมีสติกเกอร์ของสหกรณ์ติดอยู่ที่ข้างประตูรถ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ลูกสาวของหญิงที่ถูกรถสองแถวแดงทับจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งใช้ชื่อว่าเจเจ มาร้องขอความช่วยเหลือจากเพจชื่อดัง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเรื่องเงินที่จะใช้รักษาแม่ ซึ่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และอยู่ระหว่างย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดพังงา และไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลช่วยเหลือ โดยมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นอกเห็นใจและให้คำแนะนำต่างๆ เป็นจำนวนมากนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องนี้มีข้อแนะนำทางกฎหมายที่น่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายผู้เสียหายดังนี้ 1.หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่ายผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการกระทำโดยประมาทของคนขับรถสองแถวแดง ฝ่ายผู้เสียหายมีสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในการยื่นคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาต่อสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรม

ในกรณีที่อยู่จังหวัดพังงาก็สามารถยื่นเรื่องต่อยุติธรรมจังหวัดพังงาได้ เพื่อขอรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ และค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาเห็นสมควร โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดร.ธนกฤต กล่าวต่อว่า 2.ผู้เสียหายซึ่งได้รับบาดเจ็บมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นจำนวน 80,000 บาท เมื่อรถคันที่บริษัทประกันภัยได้รับประกันภัยไว้เป็นฝ่ายผิด ซึ่งทราบมาว่าฝ่ายผู้เสียหายได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว แต่หากต่อมาปรากฏว่า ผู้เสียหายต้องทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทประกันภัยมีหน้าที่ต้องชดใช้ให้ผู้เสียหายเป็นจำนวน 300,000 บาท และในกรณีที่ผู้เสียหายต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะคนไข้ใน บริษัทประกันภัยมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าชดเชยรายวันให้ผู้เสียหายวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน

3.ฝ่ายผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากนายนายยงยุทธ บุญเลิศ ซึ่งเป็นคนขับและเป็นเจ้าของรถ โดยในคดีนี้ฝ่ายผู้เสียหายได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายยงยุทธไปแล้ว หากคดีไปถึงชั้นอัยการและอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายยงยุทธในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ฝ่ายผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายยงยุทธ เพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน จากการที่ตนได้รับอันตรายสาหัสจากนายยงยุทธได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1

4.ฝ่ายผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัดได้ เนื่องจากรถสองแถวแดงที่นายยงยุทธขับเป็นสมาชิกของสหกรณ์ และมีสติกเกอร์ของสหกรณ์ติดอยู่ข้างประตูรถ การที่นายยงยุทธนำรถออกวิ่งรับคนโดยสาร จึงเป็นการที่สหกรณ์ยอมให้รถของนายยงยุทธวิ่งรับส่งคนโดยสารในนามของสหกรณ์โดยเปิดเผย และการที่สหกรณ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินค่าสมาชิกจากบรรดาเจ้าของรถรวมทั้งนายยงยุทธ

จากการที่อนุญาตให้ใช้ตราของสหกรณ์ที่ติดอยู่ข้างรถ ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า สหกรณ์เป็นผู้ประกอบการเดินรถยนต์สองแถวรับจ้างในกิจการและในนามของสหกรณ์เอง การกระทำของสหกรณ์จึงเป็นการเชิดนายยงยุทธให้เป็นตัวแทนของสหกรณ์ในการรับจ้างขนส่งคนโดยสาร และถือได้ว่าเป็นการยอมรับต่อบุคคลภายนอกว่ารถของนายยงยุทธเป็นรถของสหกรณ์ เมื่อนายยงยุทธกระทำละเมิดต่อผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส สหกรณ์จึงต้องร่วมรับผิดต่อผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดของนายยงยุทธด้วย ซึ่งในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินวางบรรทัดฐานไว้หลายเรื่อง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่55/2523, 3116/2523, 243/2530, 2452/2531

โดยในเรื่องนี้ฝ่ายผู้เสียหายต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากสหกรณ์เป็นคดีแพ่งต่างหาก เนื่องจากในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายยงยุทธดังกล่าว สหกรณ์ไม่ได้เป็นผู้กระทำโดยประมาทจึงไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาร่วมกับนายยงยุทธด้วย ฝ่ายผู้เสียหายจึงไม่สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายจากสหกรณ์เข้ามาในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ได้

นอกจากนี้ ฝ่ายผู้เสียหายสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายได้จากสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัดพังงาและสำนักงานอัยการในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน