เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านขาย ไส้กรอก กลางตลาดคลองชี หลังทำเด็ก 2 พี่น้องป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน สั่งเฝ้าระวัง 3 อำเภอในพื้นที่ จ.ตรัง

วันที่ 2 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอวังวิเศษ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวังวิเศษ ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น ไส้กรอก ร้านหนึ่งภายในตลาดคลองชี อ.วังวิเศษ จ.ตรัง อ่านข่าว : ตรัง ป่วยแล้ว3ราย กินไส้กรอกไร้อย. 12ขวบปากเขียว สสจ.เร่งปูพรมตรวจ ชี้อันตรายถึงชีวิต

หลังจากได้รับข้อมูลจากผู้ปกครองของเด็กชายและเด็กหญิง 2 พี่น้อง อายุ 8 ขวบ และ 9 ขวบ ที่ป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ซื้อไส้กรอกหลากสี ไม่มียี่ห้อ และเลขทะเบียน อย. จากร้านดังกล่าวมารับประทาน จนส่งผลให้ลูกทั้ง 2 คน เกิดอาการป่วยเฉียบพลันด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านขาย ไส้กรอก กลางตลาดคลองชี หลังทำเด็ก 2 พี่น้องป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านขาย ไส้กรอก กลางตลาดคลองชี หลังทำเด็ก 2 พี่น้องป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน

จากข้อมูลพบว่า ร้านแห่งนี้รับไส้กรอกชนิดดังกล่าวมาทั้งหมด 30 แพ็ก จากตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และจำหน่ายไปทั้งหมดแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกจากผู้ปกครองของเด็กทั้ง 2 คน เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง

ทำให้ขณะลงพื้นที่ไปตรวจสอบในวันนี้ ไม่มีไส้กรอกชนิดดังกล่าววางจำหน่ายที่แผงแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้กวดขันในการซื้อสินค้ามาจำหน่าย จะต้องซื้อสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียน อย.เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังได้เดินแจกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์แก่พ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งประชาชนที่เดินทางไปจับจ่ายสินค้าในตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงกรณีพบเด็ก 3 คนในจ.ตรัง ล้มป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากส่งโรงพยาบาลไม่ทัน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนเลือกซื้อสินค้าเฉพาะที่มียี่ห้อ เลขทะเบียน อย.กำกับ ระบุชื่อบริษัท แหล่งผลิต ปริมาณ และวันเวลาหมดอายุเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับไส้กรอกยี่ห้อดังกล่าว เข้ามาในจ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2565 เป็นต้นมา รวมทั้งหมด 80 แพ็ก โดยพบว่า ร้านค้าใน อ.สิเกา รับมาทั้งหมด 10 แพ็ก จำหน่ายไป 5 แพ็ก เจ้าหน้าที่เก็บ 5 แพ็ก ส่วนร้านค้าใน อ.ห้วยยอด รับมา 40 แพ็ก แต่ทางร้านยังไม่ได้จำหน่าย เจ้าหน้าที่จึงเก็บส่งคืนบริษัท

ขณะที่ร้านค้าใน อ.วังวิเศษ รับมา 30 แพ็ก และจำหน่ายไปทั้งหมดแล้ว ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง จึงได้สั่งเฝ้าระวังเด็กเป็นพิเศษใน 3 อำเภอดังกล่าว ที่เด็กอาจจะป่วยจากการซื้อไปรับประทานก่อนหน้านี้ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 7 ก.พ.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน