เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ม.ค. นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการควบคุมทางกรมศุลกากร พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายปฏิบัติการ 1 แถลงข่าวผลการตรวจยึดงาช้า จำนวน 3 กิ่ง 31 ท่อน น้ำหนัก 148 กิโลกรัม ที่ถูกลักลอบนำเข้าจากกรุงลากอส ประเทศไนจีเรีย มีมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ที่ห้องศูนย์แถลงข่าว ชั้น2 อาคาร1 กรมศุลกากร แขวงและเขตคลองเตย กรุงเทพฯ

นายชัยยุทธ เปิดเผยว่า ทางกรมศุลกากร ร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อกวาดล้างกลุ่มขบวนการลักลอบค้างาช้าง ซึ่งจากการเฝ้าติดตามพบว่าจะนำเข้ามาจากประเทศในทวีปแอฟริกาหรือแอฟริกาใต้ และใช้วิธีการสำแดงชนิดสินค้าเป็นสินค้าประจำถิ่นในประเทศเหล่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการตรวจสอบ กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.60 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสำนักสืบสวนและปราบปราม และสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตรวจสอบพบว่ามีสินค้าที่ถูกนำเข้าและมีความเสี่ยงในการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกนำเข้ามาโดยสายการบินเอธิโอเปีย เที่ยวบินที่ อีที 618 ขนส่งจากต้นทางท่าอากาศยานมูตาลามูฮัมเม็ด กรุงลากอส ประเทศไนจีเรีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ซึ่งสำแดงสินค้าเป็น General Goods (สินค้าทั่วไป) จำนวน 3 หีบห่อ น้ำหนักรวม 175 กิโลกรัม

นายชัยยุทธ เปิดเผยต่อว่า เมื่อตรวจสอบสินค้าโดยละเอียดด้วยเครื่องมือ พบว่าสินค้าภายในมีลักษณะคล้ายงาช้าง บรรจุภายในหีบห่อ และไม่มีผู้ใดมาดำเนินพิธีการทางกรมศุลกากรแต่อย่างใด ส่วนชื่อที่อยู่ ที่สำแดงก็ไม่พบว่ามีอยู่จริง จนเมื่อเปิดห่อพัสดุ พบว่า เป็นงาช้าง 3 กิ่ง 31 ท่อน ห่อด้วยกระดาษฟอยล์โดยใส่อยู่ในลังกระดาษห่อด้วยถุงกระสอบสีเขียว จึงได้ตรวจยึดของกลางไว้ทั้งหมด

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันงาช้างในประเทศไทย ถูกกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะลักลอบขนส่งผ่านทางใดก็ตาม ก็ไม่สามารถผ่านการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่ได้ หรือหากลักลอบนำเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถนำออกไปยังประเทศที่สามได้เช่นกัน ซึ่งประเทศไทยมักจะถูกใช้เป็นทางผ่านในการลับลอบงาช้า ไปยังประเทศที่สามคือ ลาว เวียดนาม เพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางคือประเทศจีน ส่วนสาเหตุที่ลักลอบนำเข้างาช้างเข้าทางประเทศไทยเพราะว่า งาช้างในไทยปัจจุบันหายากมากขึ้น

ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบงาช้างโดยละเอียดพร้อมส่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อตรวจดีเอ็นเอ ต่อไป

กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่านซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และสามารถตรวจยึดสินค้าละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมงาช้าง 7 คดี ได้งาช้าง 543 ชิ้น จับกุม นอแรด 6 คดี ได้นอแรด 71 ชิ้น จับกุมเต่า 5 คดี ได้เต่า 543 ตัว จับกุมตัวลิ่นเกล็ดลิ่น 6 คดี ได้ตัวลิ่น 136 ตัว เกล็ดลิ่น 4,431 กิโลกรัม สัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่น เช่นตัวนาก นก ไข่นก 28 คดี ได้ 13,853 รายการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน