เงียบหายไป2ปี! สสจ.สงขลา เตือน ระวังโควิดแล้ว ให้ป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วย หลังกลับมาระบาดซ้ำ พบผู้ป่วยแล้ว 32 ราย เหตุฝนตกชุก แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น

18 พ.ค. 65 – นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ช่วงนี้ในพื้นที่ภาคใต้และ จ.สงขลา เริ่มมีฝนตกเป็นระยะๆ ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้นและยุงลายมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น นอกจากโรคโควิด 19 ที่ประชาชนต้องระวังแล้ว ยังควรระวังโรคไข้เลือดออกอีกโรคหนึ่งด้วย

นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวว่า คาดการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 65 จะกลับมาระบาดอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหาย ไป 2 ปี แต่การกลับมาระบาด เกิดจากปัจจัยภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนเริ่มต่ำลง โดยที่ภูมิต้านทานชั่วคราวที่เกิดจากการระบาดใหญ่ครั้งก่อนในประชาชนลดลง หากครัวเรือนยังไม่มีการจัดการขยะ ที่ถูกต้องและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายไม่ดีทำให้ยุงลายขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนยิ่งเสี่ยงต่อ โรคไข้เลือดออกมากขึ้นด้วย

“สถานการณ์โรคไข้เลือดออก จ.สงขลา ข้อมูล ตั้งแต่ 1 มค – 10 พค 65 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 32 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.27 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10 -14 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 5.99 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาอายุ 15-24 ปี อัตราป่วย 4.67 และกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี อัตราป่วย 3.07”

นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวว่า อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อ.กระแสสินธุ์ อัตราป่วยเท่ากับ 6.41 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา อ.สะเดา และ อ.คลองหอยโข่ง และอำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อ.สะเดา 7 หาดใหญ่ 7 เมือง 3 สะบ้าย้อย 3 และ อ.สิงหนคร 3 “

นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสแดงกีมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงลายไปกัดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เชื้อจะฟักตัวในยุงประมาณ 8-10 วัน และเก็บไว้ในต่อมน้ำลาย เมื่อยุงไปกัดคนที่ปกติ ก็จะปล่อยเชื้อเข้าไปในตัวคน ทำให้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรงมาก แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง

โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน และไข้จะสูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดอาการรุนแรง อาจมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

“สิ่งสำคัญของการป้องกันไข้เลือดออก “อย่าให้ยุงกัด และอย่าให้ยุงเกิด” โดยเด็กเล็กควรนอนในมุ้ง ทายาป้องกันยุงกัดก่อนไปโรงเรียน ในผู้ใหญ่ให้ทายาป้องกันยุงกัดก่อนออกไปทำงาน เช่น ไปกรีดยาง และควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่บ้านตนเองทุกสัปดาห์ กำจัดขยะหรือจัดการภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยไม่ต้องรอให้มีน้ำขัง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ”นายแพทย์สงกรานต์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน